การเรียกงบ Quarter: เหมือนจะเข้าใจ แต่งงทุกทีที่บริษัทประกาศงบอยู่หรือเปล่า

[การเรียกงบ Quarter: เหมือนจะเข้าใจ แต่งงทุกทีที่บริษัทประกาศงบอยู่หรือเปล่า]

ช่วงเดือน ก.ค. นี้ เป็นช่วงที่ตลาดกำลังรอการประกาศงบการเงินไตรมาส 2 (เม.ย. – มิ.ย.) ของแต่ละบริษัท

แน่นอนว่ามักจะเป็นช่วงที่บรรดากูรูแหล่งข่าวทั้งหลายกำลังคาดการณ์ผลประกอบการ Q2 กันไม่เว้นแต่ละวันเลยครับ

พอดีเมื่อวันศุกร์ที่แล้วขณะที่อ่านโน่นนั่นนี่ ผมก็เหลือบไปเห็นพาดหัวข่าว “AOT คาด Q3 กำไรพุ่ง 6.3 พันล้านบาท” (เอ..ตอนนี้ชาวบ้านเค้ากำลังรองบ Q2 ออกอยู่นี่นา…) ส่วนก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ก็เจอพาดหัวข่าวว่า “AEONTS ไตรมาส Q1 กำไรสูงกว่าคาด” (เดี๋ยวๆ นี่เดือน ก.ค.แล้ว จะมา Q1 อะไรกัน) อ่อ ลืมไป…เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ก็เจอข่าวว่า “BTS : ผลประกอบการ 4Q61: มีกำไรพิเศษก้อนใหญ่” (ห๊ะ ประกาศงบเดือน พ.ค. เองนะ… Q4 ของปี 61 แล้วหรอ) … บางคนถึงกับคิ้วขมวดละ มันอะไรกันเนี่ย นับนิ้วไม่ทันละจ้า 5555

เฉลยๆครับ บริษัทพวกนี้มีรอบระยะเวลาบัญชี (Accounting Period) ไม่ตรงรอบปีปฏิทินครับ มันเลยดูเขย่งๆ แปลกๆ แบบนี้ เดี๋ยวเรามาดูกันดีกว่าครับว่า เวลาเรียกงบ Quarter เค้าใช้หลักอะไรกัน จะได้ไม่ต้องเจอกับปัญหาว่านักข่าวพูดเสร็จไปนานแล้ว แต่ฉานนน ยังมึนอยู่เลยว่า Q3 Q4 ที่นายพูดหนะเดือนไหนอะไรหว่า

รอบระยะเวลาบัญชี (Accounting Period) ของบริษัทโดยส่วนใหญ่มักจะตรงรอบปีปฏิทิน คือ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. ของทุกปี แต่ก็มีบริษัทอีกส่วนหนึ่งที่มี Accounting Period ไม่ตรงกับรอบปีปฏิทิน เช่น รอบระยะเวลาบัญชี คือ 1 เม.ย. – 31 มี.ค. ของปีถัดไป

เดี๋ยวเราค่อยๆมาดูกันครับ ว่าจะเรียกชื่องบ Quarter ของบริษัททั้ง 2 กลุ่มนี้ยังไง

กลุ่มแรกก่อนนะครับ กลุ่มที่ Accounting Period ตรงรอบปีปฏิทิน กลุ่มนี้ง่ายมากครับ เรียงไปเลย ทีละ 3 เดือน

ไตรมาส 1 = 1 ม.ค. – 31 มี.ค.

ไตรมาส 2 = 1 เม.ย. – 30 มิ.ย.

ไตรมาส 3 = 1 ก.ค. – 30 ก.ย.

ไตรมาส 4 = 1 ต.ค. – 31 ธ.ค. โดยที่งบการเงินสำหรับปีนั้นๆคือ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. ครับ

ปล. YE ในรูป หมายถึง Year End นะครับ

แต่ที่จะชวนมึนหัวนิดๆ (แต่เดี๋ยวก็หายมึน) คือก็กลุ่มที่ Accounting Period ไม่ตรงกับรอบปีปฏิทินครับ
วิธีการอ่านควรเริ่มจากการอ่านให้ออกว่าบริษัทนั้นมี Accounting Period เริ่มเมื่อไหร่ จบเมื่อไหร่ ผมสรุปง่ายๆ 3 ขั้นนะ

1. ดูก่อนครับงบปีอะไร เลขปีนั้นจะบอกว่า Q4 จะสิ้นสุดในปีนั้นๆครับ

2. ดู Period ครับว่างบ Q ที่กำลังดูอยู่สิ้นสุดเดือนอะไร

3. แล้วก็นับให้ครบรอบ แล้วเราจะเห็น Accounting Period ของบริษัทครับ

ถ้าเราจะเรียกชื่องบให้ถูกก็แค่ไล่ไปตาม Accounting Period ที่เราหามาตาม 3 ขั้นตอนครับ

ลองดูตัวอย่างซะหน่อยก่อนเจอของจริงครับ

ถ้าเราเจอว่า งบการเงิน ไตรมาส 2 / 2561 และไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2561 พอไล่ได้ไหมครับบริษัทนี้มี Accounting Period เริ่มวันไหนสิ้นสุดวันไหนครับ

ค่อยๆไปครับ 3 Steps ครับ

1. งบการเงิน ไตรมาส 2 / 2561 -> แสดงว่า Q4 ตกในปี 2561

2. ไตรมาส 2 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2561 -> สิ้นไตรมาส 2 = 31 มี.ค.

3. นับให้ครบรอบ ; สิ้นไตรมาส 2 = 31 มี.ค. แสดงว่าต้นไตรมาส 1 = 1 ต.ค. หรือ สิ้นไตรมาส 4 = 30 ก.ย. 61 นั่นเองครับ

ซึ่งสรุปได้ว่า Accounting Period ปี 2561 = 1 ต.ค. 2560 – 30 ก.ย. 2561

ดังนั้น หากจะเรียกงบช่วง 1 ต.ค. 2560 – 31 ธ.ค. 2560 ก็ควรจะเรียกว่า งบ Q1/2561 ครับ

อีกตัวอย่างครับ งบการเงิน ไตรมาส 1 / 2562 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561

ค่อยๆไปครับ 3 Steps ครับ

1. งบการเงิน ไตรมาส 1 / 2562 -> แสดงว่า Q4 ตกในปี 2562

2. ไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2561-> สิ้นไตรมาส 1 = 30 มิ.ย.

3. นับให้ครบรอบ ; สิ้นไตรมาส 1 = 30 มิ.ย. แสดงว่าต้นไตรมาส 1 = 1 เม.ย.

ดังนั้น Accounting Period = 1 เม.ย. 61 – 31 มี.ค. 62 นั่นเองครับ

เห็นไหมครับ คำตอบของประโยคที่ว่า อะไรกัน นี่ปี 2561 เอง ทำไมถึงเรียกว่างบ 1/2562 แล้วหละ

ดูของจริงกันดีกว่าครับ งบ OISHI ครับ ถ้าสมมติว่าอ่านข่าวเจอในช่วงเดือน พ.ค. 61 ว่า OISHI ประกาศงบ Q2 แล้ว เราอาจจะค่อยๆไล่ไปครับ งบนี้เป็นงบ Q2/2561 (อ๋อ Q4 จะตกในปี 2561 นี่แหละ) และสิ้น Q2 = 31 มี.ค. 2561 งั้น สิ้น Q4 = 30 ก.ย. 2561

ดังนั้น Accounting Period ปี 2561 = 1 ต.ค. 2560 – 30 ก.ย. 2561 นั่นเอง

เฉลยตามรูปเลยครับ

และคงไม่งงๆแล้วถ้า งบสิ้นสุด 31 ธ.ค. 61 จะเรียกว่างบ Q1/2562 เนอะ

กลับมาที่ BTS ครับ ที่เคยเล่าไปเมื่อตอนต้นว่า เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ก็เจอข่าวว่า “BTS : ผลประกอบการ 4Q61: มีกำไรพิเศษก้อนใหญ่” (ห๊ะ ประกาศงบเดือน พ.ค. เองนะ… Q4 ของปี 61 แล้วหรอ)

ง่ายๆเลยครับ ตามรูปเป็นงบปีสิ้นสุด 31 มี.ค. 2561 แสดงว่าเริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 60 – 31 มี.ค. 61 นั่นเองครับ (วันที่สิ้นสุดตกอยู่ในปี 2561 เลยเรียกว่าเป็นงบปี 2561 แม้จะยังไม่หมดปีปฏิทินก็ตาม)

เฉลยตามรูปเลยนะครับ

ถ้าเราคิดต่อไปอีกนิ๊ด สำหรับไตรมาส เม.ย. – มิ.ย. 61 ที่ BTS กำลังจะประกาศงบ ก็จะเรียกว่างบ Q1/2562 นั่นเองครับ (Q4 ของรอบนี้จะสิ้นสุดในปี 2562 วันที่ 31 มี.ค. ครับ)

ย้อนกลับมาที่ AOT ครับ ที่ผมไปเจอพาดหัวข่าว “AOT คาด Q3 กำไรพุ่ง 6.3 พันล้านบาท” (เอ..ตอนนี้ชาวบ้านเค้ากำลังรองบ Q2 ออกอยู่นี่นา…)

แสดงว่า ช่วงเดือน เม.ย. – มิ.ย. ของ AOT เรียกว่า Q3 ดังนั้น สิ้นสุด Q4 ของ AOT = 30 มิ.ย. + 3 เดือน = 30 ก.ย. ดังนั้น Accounting Period ปี 2561 = 1 ต.ค. 2560 – 30 ก.ย. 2561 ครับ

จะเห็นว่า Q3 ของ AOT = Q2 ของบริษัทอื่นๆที่ Accounting Period ตรงรอบปีปฏิทิน เนื่องจากรอบของ AOT วิ่งนำชาวบ้านเค้าอยู่ 1Q นั่นเองครับ

เผื่อใช้เป็นหลักการไว้อ่านข่าว อ่านข้อมูล เพื่อให้เข้าใจได้เร็วขึ้นนะครับ

กรกฎาคม 16, 2018
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ