ถือ KUB (Bitkub Coin) เพื่อเป็น Validator Node กับประเด็นในงบการเงิน (ตอนที่ 6) : Conclusion Remark

[ถือ KUB (Bitkub Coin) เพื่อเป็น Validator Node กับประเด็นในงบการเงิน (ตอนที่ 6) : Conclusion Remark]

หลังจากที่ได้เล่าเรื่อง “ถือ KUB (Bitkub Coin) เพื่อเป็น Validator Node กับประเด็นในงบการเงิน” มาทั้งหมด 5 ตอนแล้ว ในตอนนี้ก็จะขอถือโอกาสยกข้อสังเกตในประเด็นสำคัญๆ ที่ได้จากเรื่องราวการถือ Digital Assets อย่าง KUB ในมุมมองการรายงานทางการเงิน (Financial Reporting) ดังนี้

1. เรากำลัง Control อะไร ?
.

แม้ว่าในมุมมองทางธุรกิจ เราจะเห็นว่ากิจการได้ “เข้าลงทุน” ใน Digital Assets แต่หากเริ่มมีเงื่อนไขที่ “มากกว่า” การเข้าลงทุนปกติ เช่น มีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดของการซื้อคืน สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ กิจการได้มีการ “ควบคุม” ใน Digital Assets เหล่านั้นจริงๆ หรือไม่ ดังที่ได้ทิ้งท้ายไว้ในตอนที่ 1 ว่า
.

“ก่อนจะ Dr. Assets เข้างบ ให้ดูก่อนว่า เรามี Control ใน Assets ชิ้นนั้นๆ จริงหรือไม่”
.

ซึ่งจากตัวอย่างของ PROEN ในตอนที่ 1 ก็แสดงให้เห็นว่า แม้ธุรกรรมในมุมมองทางธุรกิจจะเป็นการเข้าลงทุนใน Digital Assets แต่เมื่อต้องตีความตามมุมมองของการรายงานทางการเงิน ผลลัพธ์ที่ได้กลับกลายเป็นว่ากิจการไม่ได้มี “การควบคุม” ในตัว Digital Assets แต่เป็นการลงทุนใน “สินทรัพย์ทางการเงิน” ประหนึ่งเป็นเงินให้กู้ยืมรายการหนึ่ง
.
.
.

2. จริงหรือไม่ ที่ “Digital Assets = Intangible Assets / Inventories”
.

หากพิจารณาแล้วว่ากิจการมีการ “ควบคุม” ใน Digital Assets เหล่านั้นจริงๆ การพิจารณาด้านการรายงานทางการเงินสำหรับเรื่อง Digital Assets ในมุมของการถือ (Holding) นั้น ก็ไม่ควรจำกัดคำตอบของการลงบัญชี Digital Assets ดังกล่าวอยู่เพียง “สินทรัพย์ไม่มีตัวตน (Intangible Assets)” หรือ “สินค้าคงเหลือ (Inventories)” เท่านั้น
.

ยังคงมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากการด่วนสรุปว่าเมื่อเจอคำว่า “Digital Assets” หรือ “Cryptocurrency (ในความหมายทั่วๆไป)” แล้ว ถ้าไม่เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน (Intangible Assets) ก็ต้องเป็น สินค้าคงเหลือ (Inventory) ในรายงานทางการเงิน
.

อย่างไรก็ดีต้องพึงระลึกไว้เสมอ สำหรับประโยคที่ว่า “สำหรับ Cryptocurrency ถ้าไม่เป็น สินทรัพย์ไม่มีตัวตน (Intangible Assets) ก็ต้องเป็น สินค้าคงเหลือ (Inventory)” นั้น เป็นบทสรุปสั้น ของการตีความตาม Agenda Decision : Holdings of Cryptocurrencies — June 2019
.

ซึ่งการตีความดังกล่าวได้นิยามคำว่า Cryptocurrency ไว้อย่างเฉพาะเจาะจง (หรือจะบอกว่ามี Scope ที่ค่อนข้างแคบก็ไม่น่าจะเกินจริง) กล่าวคือ จะต้องเข้าเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อ ดังนี้
.

1. a digital or virtual currency recorded on a distributed ledger that uses cryptography for security (เป็นสกุลเงินดิจิทัลหรือสกุลเงินเสมือนซึ่งถูกบันทึกอยู่บนการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ที่ใช้วิทยาการเข้ารหัสลับเพื่อความปลอดภัย)
.

2. not issued by a jurisdictional authority or other party (ไม่ได้ออกโดยหน่วยงานกำกับดูแลหรือหน่วยงานอื่น) และ
.

3. does not give rise to a contract between the holder and another party (ไม่ได้ก่อให้เกิดสัญญาระหว่างผู้ถือกับอีกฝ่ายหนึ่ง)
.

จึงหมายความว่าหาก Digital Assets ที่กิจการได้ถือไว้ “ไม่เข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง” จาก 3 ข้อที่กล่าวไป การอ้างอิง Agenda Decision : Holdings of Cryptocurrencies — June 2019 สำหรับการตีความเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการรายงานทางการเงินก็อาจไม่เหมาะสมนัก
.

อย่างไรก็ดี สำหรับ Digital Assets ที่ไม่เข้านิยามคำว่า Cryptocurrency ตาม Agenda Decision : Holdings of Cryptocurrencies — June 2019 ก็ “ไม่ได้หมายความว่า” Digital Assets ดังกล่าวจะไม่สามารถเป็นสินค้าคงเหลือ หรือสินทรัพย์ไม่มีตัวตน แต่อย่างใด
.

ในกรณีที่ไม่เข้านิยามดังกล่าว กิจการจะต้องพิจารณามาตรฐานการรายงานทางการเงิน “เท่าที่มีในปัจจุบัน” ว่า Digital Assets ที่กิจการกำลังถืออยู่นั้น เข้าเงื่อนไขการเป็นสินทรัพย์ประเภทใด เช่น อาจเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน เป็นเงินจ่ายล่วงหน้า หรืออาจจะเป็นสินค้าคงเหลือ หรือสินทรัพย์ไม่มีตัวตนก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ซึ่งรวมถึงวัตถุประสงค์ของการถือครอง Digital Assets ของกิจการด้วย
.

อย่างไรก็ดี หากกลับมาที่ KUB ก็เป็นประเด็นที่น่าคิดว่า จริงๆ แล้ว KUB นั้น ถือเป็น Cryptocurrency ตาม Agenda Decision : Holdings of Cryptocurrencies — June 2019 หรือไม่ ? โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคำถามที่น่าจะต้องพิจารณากันเพิ่มเติม คือ “ไม่ได้ออกโดย” หน่วยงานกำกับดูแลหรือ “หน่วยงานอื่น” ?
.

อย่างไรก็ดีสำหรับประเด็น “ไม่ได้ก่อให้เกิดสัญญาระหว่างผู้ถือกับอีกฝ่ายหนึ่ง” นั้น ใน whitepaper KUB ได้ระบุไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า “Bitkub Coin (KUB) คือ Utility token ไม่ถือเป็นการถือหุ้นหรือหลักทรัพย์ใด ๆ การถือครองเหรียญ KUB ไม่ก่อให้เกิดความเป็นเจ้าของหรือประโยชน์อื่นใดในกลุ่มบริษัท บิทคับ บริษัทในเครือ หรือบริษัทย่อย”

3. ใช้มาตรฐานฯ “เท่าที่มีในปัจจุบัน”
.

แม้ว่า Cryptocurrency ตาม Agenda Decision : Holdings of Cryptocurrencies — June 2019 จะตีความได้ว่าเป็นสินค้าคงเหลือ หรือสินทรัพย์ไม่มีตัวตน แต่การใช้มาตรฐานฯ ที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียง TAS 2 (สินค้าคงเหลือ) หรือ TAS 38 (สินทรัพย์ไม่มีตัวตน) เท่านั้น
.

หากแต่กิจการยังต้องพิจารณาถึงมาตรฐานฯ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น TAS 36 (การด้อยค่าของสินทรัพย์) รวมไปถึง TFRS 13 (เรื่องการวัดมูลค่ายุติธรรม ซึ่งก็มีประเด็นน่าคิดและพิจารณา (ต่อ) จากตัวอย่างของหลายๆ บริษัทที่ได้ยกตัวอย่างไป เช่น
– การวัดมูลค่ายุติธรรมสำหรับ KUB ที่อยู่ในช่วงที่มีข้อจำกัดการใช้งานหรือช่วงที่นำไป Stake นั้นควรใช้ราคาจาก Exchange โดยตรงหรือไม่ / ควรมี Discount จากข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์หรือไม่
– รวมทั้งประเด็นราคาอ้างอิงจาก Coinmarketcap นั้นควรถือเป็น Fair Value Level 1 จริงๆ หรือไม่)
.

นอกจากนี้แล้วก่อนที่จะไปถึงเรื่องการตัดสินใจว่าจะบันทึกเป็น สินค้าคงเหลือ หรือสินทรัพย์ไม่มีตัวตน นั้น TFRS 15 (รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า) ก็ดูเหมือนจะเป็นแหล่งที่รวบรวมเกณฑ์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีความซับซ้อน) ในการพิจารณาว่า กิจการมี “การควบคุม” สินค้าคงเหลือ หรือสินทรัพย์ไม่มีตัวตนดังกล่าวหรือไม่ ดังตัวอย่างของ PROEN ที่ได้เล่าไว้ในตอนที่ 1 รวมไปถึงประเด็นการบันทึกรายได้จากการได้สินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ (ที่ดูเหมือนผลตอบแทนจากการถือ) ว่าจะรับรู้เมื่อใด ด้วยจำนวนเท่าใด
.

ทั้งนี้หาก Digital Assets ดังกล่าวไม่เข้านิยาม Cryptocurrency ตาม Agenda Decision กิจการก็จะต้องพิจารณาตามมาตรฐานฯ ในระดับที่กว้างขึ้นไปอีกเท่าที่ Digital Assets จะถูกตีความได้ เช่น TFRS 9 (เครื่องมือทางการเงิน) TAS 32 (การแสดงรายการเครื่องมือทางการเงิน) เป็นต้น
.

ซึ่งรวมถึงกรณีที่กิจการพิจารณาแล้วว่าไม่มีอำนาจควบคุมใน Digital Assets โดยเป็นแต่เพียงการได้มาซึ่งสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets) ดังตัวอย่างของ PROEN โดยสิ่งที่ต้องพิจารณาต่อคือ สินทรัพย์ทางการเงินดังกล่าวควรจะเป็นสินทรัพย์ทางการเงินประเภทใด เช่น Amortised Cost / FVTPL หรือ FVTOCI (ซึ่งบทความนี้ไม่ได้ลงรายละเอียดการพิจารณาใน Step นี้ เนื่องจากมีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างมาก)
.

นอกจากนี้มาตรฐานฯ กลุ่มที่เป็น General Standards เช่น TAS 1 (การนำเสนองบการเงิน) TAS 10 (เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน) ก็เป็นกลุ่มมาตรฐานฯ ที่กิจการต้องไม่ลืมที่จะปฏิบัติตามด้วยเช่นกัน
.
.
.

4. Fact ต่าง มุมมองต่าง การตีความก็ต่าง
.

ตัวอย่างต่างๆ ของบทความนี้ ได้ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า หาก Fact แตกต่างกัน ผลกระทบต่องบการเงินก็ต่างกัน เช่น การถือ KUB ระหว่างแบบที่มี กับไม่มีการรับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำ ก็ย่อมทำให้ลัพธ์แตกต่างกัน
.

หรือการถือ KUB เพื่อ Trading Activity หรือการถือ KUB เพื่อการเป็น Node Validator ก็ย่อมส่งผลต่อการตีความที่ไม่เหมือนกัน
.

รวมไปถึงกรณีการตีความว่าสัญญาซื้อคืนเป็น Derivative หรือไม่ ตามที่ได้ยกตัวอย่างไปในตอนที่ 3 ซึ่งจะเห็นว่าการปรับ Fact เพียงนิดเดียว ก็อาจทำให้ผลกระทบต่องบการเงินแตกต่างกันอย่างมาก
.

นอกจากนี้ ประเด็น “มุมมอง” หรือ “Assumption” ที่ใช้แตกต่างกัน ก็ส่งผลต่อการตีความได้ เช่น กรณีการรับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำ ในเงื่อนไข “ราคาตลาด (ที่คาดไว้)” การที่คาดว่าราคาตลาดต่ำกว่า หรือสูงกว่าราคาซื้อคืน ก็อาจส่งผลต่อการตีความ ว่า Transaction ดังกล่าวจะถือเป็น “การขาย” หรือไม่
.

ดังนั้น ผลลัพธ์ของแต่ละบริษัทในงบการเงินที่แตกต่างกัน ย่อมมาจากทั้งเนื้อหาของสัญญา (ซึ่งแน่นอนว่าใน Detail ก็อาจจะมีความต่างกัน)
.

รวมไปถึงมุมมอง หรือ Assumption ก็ย่อมทำให้ผลลัพธ์ของรายงานทางการเงินแตกต่างกันอย่างมาก (ในนี้แม้ว่าสัญญาจะเหมือนกันเป๊ะๆ ก็ตาม)
.

ดังนั้น สิ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการตีความ ก็คงไม่พ้นเนื้อหาของสัญญา และ มุมมองหรือ Assumption ของกิจการ

5. ความเสี่ยง
.

การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและข้อจำกัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Digital Assets ที่กิจการถือไว้ ย่อมจะให้ประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงินอย่างมาก
.

ดังนั้นแม้ว่า Digital Assets บางรายการจะไม่ใช่เครื่องมือทางการเงิน (ซึ่งกรณีเครื่องมือทางการเงินจะมีข้อกำหนดในการเปิดเผยเกี่ยวกับความเสี่ยงเป็นการเฉพาะเจาะจง) แต่กิจการก็ควรพิจารณาประเด็นการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงสำหรับ Digital Assets เพิ่มเติม เพื่อให้ข้อมูลต่อผู้ใช้งบการเงิน แม้ว่าจะไม่ได้มีข้อกำหนดที่เฉพาะเจาะจงก็ตาม
.

ซึ่งในประเด็นที่ว่านี้บริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ Cryptocurrency ในต่างประเทศส่วนใหญ่ รวมไปถึงบริษัทในประเทศไทยบางแห่งก็ได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเพิ่มเติมไว้ในงบการเงิน
.

นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลตามข้อกำหนดเดิมๆ ที่หลายๆ ท่านอาจไม่ได้สนใจอะไรมากนัก กลับกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากในบริบทของธุรกรรม Digital Assets ที่เริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ข้อกำหนดของ TAS 38 (สินทรัพย์ไม่มีตัวตน) ที่กำหนดให้กิจการต้องเปิดเผย “การมีอยู่และมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่มีข้อจำกัดในเรื่องสิทธิ” ก็ย่อมมีความสลักสำคัญในการทำความเข้าใจลักษณะและความเสี่ยงของ Digital Assets ของกิจการเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างจากที่ได้เล่าไว้ เช่น กรณีที่กิจการต้องทำตามเงื่อนไขคือห้ามไม่ให้ทำการขายหรือแลกเปลี่ยน Digital Assets ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ รวมทั้งไม่มีการรับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำเมื่อครบกำหนดตามสัญญาข้อตกลง ก็ย่อมเป็นเงื่อนไขที่มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจข้อมูลทางการเงินของนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่ราคาตลาดของ Digital Assets ที่กิจการถือครองมีความผันผวนอย่างมาก เป็นต้น
.

เป็นอันว่าขอจบบทความ “ถือ KUB (Bitkub Coin) เพื่อเป็น Validator Node กับประเด็นในงบการเงิน” ทั้ง 6 ตอนแต่เพียงเท่านี้ ขอให้มองเพียงว่า เป็นการนำเรื่องที่น่าสนใจ (เท่าที่มีข้อมูลเปิดเผยออกสู่สาธารณะ) ข้อสังเกตในหลายๆ เรื่อง พร้อมทั้งหยิบประเด็นที่ฝากให้ผู้อ่านกลับไปคิดต่อในอีกหลายๆ มุมครับ
.

บทความนี้ไม่ได้ชี้นำ ให้คำแนะนำ รวมถึงไม่ใช่เป็นการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ การซื้อขายหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์ดิจิทัล โปรดศึกษาข้อมูลจากบริษัทอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจลงทุนครับ

กันยายน 17, 2022
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ