บริษัทถัดมา คือ บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO ได้มีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงต้นเดือน มิถุนายน 2565 ว่า “ได้ลงนามในข้อตกลง Memorandum of Understanding (MOU) เพื่อเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Node Validator) ในระบบการตรวจสอบธุรกรรมบล็อกเชน (Blockchain) ของ Bitkub กับ บริษัท บิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยี จำกัด
.
ทั้งนี้ SO ลงนามเป็น Node Validator ในลักษณะ Sharing Node ซึ่งไม่จำเป็นต้องลงทุนเหรียญ KUB Coin เพิ่มเติม อย่างไรก็ตามในข้อตกลงมีเพียงเงื่อนไขให้นำฝาก KUB Coin ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่ได้รับจากการเป็น Node Validator ในช่วงปีก่อนหน้านี้ โดยไม่ได้ลงทุนซื้อเหรียญเพิ่มเติมแต่อย่างใด”
.
และ SO ก็ได้ชี้แจ้งเพิ่มเติมว่า “ในกรณีที่มูลค่าของเหรียญลดลงอย่างมากก็จะส่งผลให้เกิดการด้อยค่าของมูลค่าสินทรัพย์ไม่เกิน 0.2% ของมูลค่าสินทรัพย์รวม ซึ่งไม่ส่งผลต่อฐานะการเงินและการดำเนินการของบริษัท”
.
ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า SO ไม่ได้มีการกล่าวถึงการประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำแต่อย่างใด
.
และข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ SO ไม่ได้ลงทุนใน KUB Coin เพิ่มเติมในปี 2565 (ในขณะที่หลายบริษัทต้องลงทุนซื้อ KUB เพิ่ม) แต่ SO จะใช้ KUB ที่มีอยู่แล้วในมือ (ซึ่งก็เป็น KUB ที่ได้รับจากการเป็น Node Validator ในช่วงก่อนหน้านี้) ในการฝาก หรือ Stake ไว้
.
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า SO ได้ถือ KUB ไว้ตั้งแต่ปี 2564
.
เรามาดูงบการเงินของ SO กันดีกว่าครับ
.
ในงบการเงินปี 2564 SO ได้เปิดเผยข้อมูล นโยบายการบัญชีที่สำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรม KUB ดังนี้
.
“รายได้จากการยืนยันธุรกรรมในบล็อกเชน
.
รายได้จากการทำหน้าที่ยืนยันธุรกรรมและสร้างบล็อกใหม่บนบล็อกเชน ซึ่งได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของสินทรัพย์ดิจิทัลจากระบบบล็อกเชนจะรับรู้เมื่อบริษัทฯได้ให้บริการและได้รับเหรียญสินทรัพย์ดิจิทัลจากระบบบล็อกเชนแล้ว โดยรับรู้ตามมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่ได้รับเหรียญสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งใช้ราคาปิดจากเว็บไซต์ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
.
รายได้จากการยืนยันธุรกรรมในบล็อกเชนแสดงรวมเป็นส่วนหนึ่งของรายได้อื่นในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ
.
สินทรัพย์ดิจิทัล
.
เนื่องจากธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นธุรกรรมที่ใหม่สำหรับทั่วโลก และยังไม่ได้มีมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง บริษัทฯได้พิจารณาว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนระยะยาว จึงได้นำหลักการของมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 38 เรื่อง สินทรัพย์ไม่มีตัวตน มาประยุกต์ใช้ และจัดประเภทไว้เป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
.
บริษัทฯ บันทึกต้นทุนเริ่มแรกของสินทรัพย์ดิจิทัลตามราคาทุน ซึ่งเป็นมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่ได้สินทรัพย์มา ภายหลังการรับรู้รายการเริ่มแรก สินทรัพย์ดิจิทัลแสดงมูลค่าด้วยมูลค่าตามราคาทุน (ตามวิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก) หักค่าเผื่อการด้อยค่าสะสม (ถ้ามี) ทั้งนี้ บริษัทฯไม่มีการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ดิจิทัลเนื่องจากมีอายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน บริษัทฯจะทบทวนทุกปีว่าสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวยังคงมีอายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอนหรือไม่
.
ทุกวันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน บริษัทฯจะทำการประเมินการด้อยค่าของสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าเมื่อมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์ดิจิทัลสูงกว่ามูลค่ายุติธรรมหักต้นทุนในการขาย ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน ซึ่งมูลค่ายุติธรรมวัดจากราคาปิด ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงานจากเว็บไซต์ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
.
บริษัทฯ ตัดรายการสินทรัพย์ดิจิทัลออกจากบัญชี เมื่อจำหน่ายสินทรัพย์หรือคาดว่าจะไม่ได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตจากการใช้หรือการจำหน่ายสินทรัพย์ รายการผลกำไรหรือขาดทุนจากการจำหน่ายสินทรัพย์จะรับรู้ในส่วนของกำไรหรือขาดทุนเมื่อบริษัทฯตัดรายการสินทรัพย์นั้นออกจากบัญชี
.
สินทรัพย์ดิจิทัล แสดงรวมเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนในงบแสดงฐานะการเงิน”
.
ทั้งนี้ในปี 2564 SO ได้บันทึกมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น 2.382 ล้านบาท ซึ่งจำนวณที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากการยืนยันธุรกรรมในบล็อกเชน (ไม่ใช่จากการซื้อ) รวมทั้ง SO ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับยอดคงเหลือของสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวน 2.382 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ไว้ว่า
.
“ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 บริษัทฯ มียอดคงเหลือของสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นจำนวน 17,262 เหรียญคับ (KUB coin) (2563: ไม่มี) สินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวจะสามารถขายและเคลื่อนย้ายได้เมื่อครบกำหนด 1 ปี นับจากวันที่บริษัทฯตกลงทำสัญญาการเป็นผู้ยืนยันธุรกรรมในบล็อกเชน ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนพฤษภาคม 2565”
.
ประเด็นที่น่าสังเกต คือ หากเทียบกับราคาตลาดของ KUB ณ สิ้นปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 488.49 บาท/KUB ดังนั้น KUB จำนวน 17,262 เหรียญ จะมีมูลค่าอยู่ที่ 8.432 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าตามบัญชีที่บันทึกไว้ที่ 2.382 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้ก็เนื่องจาก SO เลือกวิธีการวัดมูลค่าภายหลังการรับรู้รายการเมื่อเริ่มแรก สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยมูลค่าตามราคาทุน หักค่าเผื่อการด้อยค่าสะสม หรือ Cost Model นั่นเอง