อ่านผลประกอบการ กับ “กำไร 4 ตัว” และประเด็น TFRS 16

[อ่านผลประกอบการ กับ “กำไร 4 ตัว” และประเด็น TFRS 16]

แอดได้มีโอกาสอ่านคำอธิบายและบทวิเคราะห์ของฝ่ายบริหาร (MD&A) สำหรับ Q1/2564 ของบริษัทแห่งหนึ่ง เลยอยากลองให้ Fanpage ลองลงไปดูที่รูป (อีกรอบ) แต่ให้เวลาไม่เกิน 5 วินาที แล้วตอบแอดหน่อยครับว่า กำไรตัวไหน คือ กำไรตามงบการเงิน ที่เราใช้กันตามปกติ (ซึ่งก็คือที่ใช้ในการคำนวณ EPS นั่นแหละครับ)
.
เอาเป็นว่าตอนแรกที่แอดอ่านก็มีอึ้งๆไปหลายวิอยู่ครับ ด้วยความที่มี “กำไร” เรียงพร้อมกันอยู่ถึง 4 ตัว รวมทั้งการเน้นตัวหนาสำหรับกำไรบางตัว ก็ยิ่งทำให้เราเริ่มไม่มั่นใจในตัวเองเข้าไปใหญ่ ว่าตกลงกำไรตามหน้างบ คือกำไนตัวไหนกันแน่ใช่ไหมครับ
.
พื้นฐานของบริษัทที่ยกขึ้นมานี้ ต้องบอกกันก่อนว่าเป็นบริษัทที่พึ่งพาสัญญาเช่าค่อนข้างเยอะทีเดียวครับ โดยบริษัทมีสินทรัพย์สิทธิการใช้ หรือ ROU ราวๆ 6,000 ล้านบาท จากสินทรัพย์รวมราวๆ 13,000 ล้านบาท ในขณะที่มีหนี้สินสัญญาเช่าประมาณ 5,000 ล้านบาท จากหนี้สินรวมประมาณ 7,000 ล้านบาท
.
เรามาทำความรู้จักกับ “กำไร” แต่ละตัวกันดีกว่าครับ
.
1) กำไรจากกิจกรรมดำเนินงาน
.
กำไรตัวนี้ไม่ใช่กำไรสุทธิ แต่เป็นกำไรที่นับเฉพาะรายได้ (เฉพาะรายได้จากการขายและให้บริการ + รายได้อื่น) หักด้วยค่าใช้จ่าย (เฉพาะต้นทุนขาย + SG&A) เท่านั้น ยังไม่ได้รวมรายการจำพวก ส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในการร่วมค้า & บริษัทร่วม ต้นทุนทางการเงิน และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้
.
2) กำไรสุทธิสำหรับผู้ถือหุ้นของบริษัท
.
กำไรตัวนี้แหละครับที่ถือเป็นกำไรตามงบการเงิน ที่เราใช้กันตามปกติครับ (ซึ่งก็คือที่ใช้ในการคำนวณ EPS)
.
3) กำไรสุทธิสำหรับผู้ถือหุ้นของบริษัท ไม่รวมผลกระทบจากการปรับมาตรฐานบัญชี TFRS 16
.
กำไรตัวนี้คือ กำไรตามข้อ 2 แต่หักผลกระทบของ TFRS 16 ออก ซึ่งกรณีนี้ก็หมายความว่า TFRS 16 มีผลกระทบ “เป็นลบ” ต่อกำไรสุทธิสำหรับผู้ถือหุ้นของบริษัทอยู่ที่ 26 ล้านบาท ใน Q1/2564 … กรณีนี้ก็อาจเกิดขึ้นเนื่องจาก เมื่อรวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจาก TFRS 16 ก็ได้แก่ ค่าเสื่อมราคาของ ROU และ ต้นทุนทางการเงินแล้ว มีจำนวนมากกว่ากรณีที่บริษัทบันทึกค่าเช่าเป็นค่าใช้จ่ายในงวดประหนึ่งว่าไม่ได้ใช้ TFRS 16 … เหตุการณ์เช่นที่เห็นนี้สามารถเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในช่วงต้นของสัญญาเช่า ซึ่งมักจะมีต้นทุนทางการเงินที่สูงกว่าช่วงอายุอื่นๆของสัญญา อันเนื่องจากมูลค่าของหนี้สินตามสัญญาเช่าที่ยังมีมูลค่าสูงอยู่ในช่วงแรก
.
อย่างไรก็ดี ก็มีข้อที่น่าคิดต่อไปว่า บริษัทจะรายงานกำไรในแบบที่ 3 นี้เพื่ออะไร เพราะบริษัทก็ยังต้องอยู่กับโลก TFRS 16 ตลอดไปในอนาคต (ตราบเท่าที่มาตรฐานฯ ยังไม่เปลี่ยน) … คำว่ากำไรสุทธิตามงบการเงินก็ยังต้องรวมผลกระทบจาก TFRS 16 อยู่นั่นเอง
.
นอกจากนี้แล้วหากพิจารณาในเรื่องความจำเป็นในการเปรียบเทียบกับกำไรในงวดปี 2563 … แอดเข้าใจว่า ไม่น่าจะมีความจำเป็นเท่าใดนัก เพราะเลขกำไรสุทธิในปี 2563 ก็ได้รวมผลกระทบจาก TFRS 16 อยู่แล้ว
.
ไม่เหมือนกับสถานการณ์ในปี 2563 (ปีที่ TFRS 16 มีผลบังคับใช้เป็นครั้งแรก) ที่กำไรสุทธิมีฐานในการคำนวณที่แตกต่างจากปี 2562 (ก่อนใช้ TFRS 16) จึงทำให้หลายๆบริษัทในขณะนั้นต้องจัดทำกำไรสุทธิปี 2563 แบบถอดผลกระทบจาก TFRS 16 เพื่อให้เปรียบเทียบกับกำไรปี 2562 ได้
.
ซึ่งในเรื่องนี้แอดได้เคยเขียนไว้ในตอน “TFRS 16 Transition บริษัทปรับตัวอย่างไร ? เมื่องบการเงินไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้” https://www.facebook.com/accountinganalysisTH/posts/711013729504438
.
และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ บริษัทที่ได้เคยจัดทำกำไรสุทธิปี 2563 แบบถอดผลกระทบจาก TFRS 16 (ในช่วงปี 2563 นั้น) ก็กลับกลายเป็นว่าในปี 2564 บริษัทเหล่านั้นก็ไม่ได้ต้องมาถอดผลกระทบของ TFRS 16 อะไรอีกแล้ว เพราะกำไรปี 2564 จัดทำบนฐานเดียวกับปี 2563 เรียบร้อยแล้ว (ทำบนฐาน TFRS 16 ทั้ง 2 ปี)
.
สิ่งที่แอดสังเกตเห็นอยู่อย่างหนึ่งคือ การปรับผลกระทบของ TFRS 16 ออกนั้น ส่งผลให้ “กำไรสุทธิสำหรับผู้ถือหุ้นของบริษัท ไม่รวมผลกระทบจากการปรับมาตรฐานบัญชี TFRS 16” มีจำนวนที่สูงกว่า “กำไรสุทธิสำหรับผู้ถือหุ้นของบริษัท” นั่นเองครับ … และบริษัทก็ยังได้เน้นตัวหนาที่กำไรบรรทัดนี้ด้วยอีกซะด้วย
.
4) กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ไม่รวมผลกระทบจากการปรับมาตรฐานบัญชี TFRS 16
.
แอดขอเรียกง่ายๆ ว่า “EBITDA ปรับ TFRS 16” นะครับ … โดย “EBITDA ปรับ TFRS 16” นั้น ก็มีที่มาเช่นเดียวกับข้อ 3 เนื่องจากเมื่อ TFRS 16 เริ่มมีผลบังคับใช้ โดยหลักการแล้วจะทำให้ “อยู่ดีๆ EBITDA ก็สูงขึ้น”… เนื่องจากค่าเสื่อมราคาของ ROU จะไม่รวมในการคำนวณ EBITDA … ในขณะที่ค่าเช่า (เดิม ; ก่อนปี 2563) จะรวมอยู่ในการคำนวณ EBITDA …. ดังนั้นในปี 2563 เราจึงเห็นหลายๆ บริษัทคำนวณ “EBITDA ปรับ TFRS 16” เพื่อให้เทียบกับ EBITDA ในปี 2562 ได้นั่นเองครับ
.
และก็เช่นเดียวกับข้อ 3 ครับ บริษัทที่ได้จัดทำ “EBITDA ปรับ TFRS 16” ในปี 2563 … พอปี 2564 บริษัทเหล่านั้นก็ไม่ได้ต้องมาถอดผลกระทบของ TFRS 16 อะไรอีกแล้ว เพราะ EBITDA ปี 2564 จัดทำบนฐานเดียวกับปี 2563 เรียบร้อยแล้ว (ทำบนฐาน TFRS 16 ทั้ง 2 ปี)
.
อย่างไรก็ดีบริษัทที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้กลับยังรายงาน “EBITDA ปรับ TFRS 16” อยู่ในปี 2564 … ทั้งๆที่ EBITDA ตามปกติแบบไม่ปรับ TFRS 16 นั้นย่อมรายงานตัวเลขที่สูงกว่า … แต่ทำไมบริษัทจึงไม่รายงาน EBITDA แบบไม่ปรับ TFRS 16 ???
.
เหตุผลอย่างหนึ่งที่แอดพยายามจะคิดตาม (ความเห็นส่วนตัวของแอดนะครับ ไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงของบริษัท) คือ บริษัทอาจพยายามหาตัววัดกำไร ที่เข้าใกล้ Near Cash ให้มากที่สุด … เพราะต้องไม่ลืมว่า Concept ของ EBITDA ก็คือการ Represent กำไร Near Cash
.
อย่างไรก็ดีเมื่อ TFRS 16 มีผลบังคับใช้แล้ว หากเรายังคำนวณ EBITDA แบบเถรตรงและตรงตามตัวย่อของมัน ก็กลายเป็นว่า“อยู่ดีๆ EBITDA ก็สูงขึ้น” เมื่อใช้ TFRS 16 เพราะค่าเช่า ซึ่งเดิมรวมอยู่ใน EBITDA ก็กลายร่างเป็น ค่าเสื่อมราคาและต้นทุนทางการเงิน ซึ่งทั้งสองรายการนี้ไม่รวมอยู่ใน EBITDA
.
ในขณะที่เมื่อย้อนกลับมาในความเป็นจริง บริษัทยังต้อง “จ่ายค่าเช่า” อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แล้วจะมาบอกว่าเงินสดจ่ายค่าเช่าที่ไหลออกอยู่นี้ ให้มองเป็นค่าเสื่อมราคาและไม่นำมาคำนวณ EBITDA ก็คงจะแปลกๆ และจะยิ่งห่างไกลจากความหมายของคำว่า “กำไร Near Cash” สำหรับบริษัทที่ต้องพึ่งพาสัญญาเช่าเพื่อใช้ในการดำเนินงานสูงๆอย่างบริษัทที่ยกตัวอย่างมานี้เองครับ
.
พูดยาวมาถึงขนาดนี้ หาก Fanpage ท่านใดมีมุมมองอื่นๆ ที่เกี่ยวกับแรงจูงใจของบริษัทให้ต้องรายงานกำไรในมุมมองอื่นเพิ่มเติมจากกำไรตามงบการเงิน (โดยเฉพาะ ข้อ 3 & 4) สามารถ Share กันได้เลยครับ
.
สุดท้ายนี้แอดหวังแค่ว่า เมื่อ Fanpage ดูรูปอีกทีแล้ว ก็สามารถชี้ได้เลยภายใน 5 วินาที ว่ากำไรตัวไหน คือ กำไรตามงบการเงินที่เราใช้กันตามปกติครับ 😀

พฤษภาคม 21, 2021
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ