งบกำไรขาดทุน จริงๆ Present ค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ แต่ทำไมเราเห็นงบในตลาดทำอยู่แค่แบบเดียว

[งบกำไรขาดทุน จริงๆ Present ค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ แต่ทำไมเราเห็นงบในตลาดทำอยู่แค่แบบเดียว]

ผมตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องราวที่เกี่ยวกับประเด็นการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนอยู่หลายประเด็นเลยครับ แต่คิดว่าเราเริ่มกันด้วยเรื่อง basic กันก่อนดีกว่าครับ

ตามหลักการบัญชีจ๋าๆ งบกำไรขาดทุน Present ค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบครับ

เริ่มจากแบบแรก ทางขวามือ ก่อนละกันครับ (ถามว่าทำไมไม่เริ่มจากซ้าย…แค่เพราะทางขวาอธิบายง่ายดี ฮ่าๆ) เรียกว่าวิธีลักษณะค่าใช้จ่าย หรือที่มักจะเรียกกันติดปากว่า Expense by Nature แบบนี้คือรวมค่าใช้จ่ายมีลักษณะเดียวกันไว้ในบรรทัดเดียวกันครับ (จบละ ง่ายอย่างที่บอกปะหละ) เช่น ค่าเสื่อมราคา (ไม่ว่าจะเป็นของโรงงานผลิต ของสำนักงาน) ค่าใช้จ่ายผลประโยชน์ของพนักงาน (ไม่สนว่าจะอยู่ Function ไหนของบริษัท) ค่าตัดจำหน่าย ค่าโฆษณา ค่าโน่นนั่นนี่ก็แล้วแต่เลยครับ

ส่วนแบบที่สอง ทางซ้ายมือ เรียกว่า วิธีหน้าที่ค่าใช้จ่าย (Expense by Function) ครับ คืองบกำไรขาดทุนที่เราเห็นกันทั่วไปว่าต้องมีบรรทัดต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่าย ค่าใช้จ่ายในการบริหาร แบบนี้จะต้อง Allocate ค่าใช้จ่ายตามลักษณะแต่ละตัว เข้าเป็นต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่าย (ศัพท์โบราณเรียกว่า ค่าใช้จ่ายในการขาย…อ่าวนี่เราเป็นคนโบราณไปแล้วหรือนี่) และค่าใช้จ่ายในการบริหารครับ วิธีนี้โดยหลักการให้ประโยชน์ต่อคนใช้งบมากกว่าครับ เพราะคนอ่านงบจะแบ่งได้ว่า อ่อ ค่าใช้จ่ายแบบนี้คือเพื่อสินค้าที่ขาย หรือค่าใช้จ่ายแบบนี้คือเพื่อส่วนของการบริหารงานในส่วนกลาง

ดูเหมือนดี แต่คนทำงานจริงๆจะรู้ว่า แสนจะใช้ Judgment และเก็บข้อมูลยากมากว่า Expense by Nature หลายเท่าเลยครับ คิดง่ายๆว่า ถ้าตึก 1 ตึก มีทั้งส่วนของสำนักงานและส่วนของโรงงาน ที่ไม่ได้แบ่งพื้นที่ข้างในกันชัดเจน แค่นี้ต้องมานั่งคิดแล้วครับว่า เอ ค่าเสื่อมราคาที่จะต้องเป็นต้นทุนขายจะเป็นเท่าไหร่ดี ค่าเสื่อมราคาจะต้องเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารเท่าไหร่ดี ที่น่าสนุกกว่านั้นคือ บริษัทที่มีหน่วยงานเยอะๆ ฝ่ายบัญชีต้องมานั่งกำหนดว่าหน่วยงานแต่ละหน่วยเมื่อมีค่าใช้จ่ายจะถือว่าเป็นต้นทุนขาย หรือค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่าย หรือค่าใช้จ่ายในการบริหารดีหละ ยิ่ง 1 หน่วยงานนั้นทำตัวทั้ง 3 แบบ ยิ่งวุ่นวายไปใหญ่ เห็นภาพแล้วใช่ไหมครับ

แต่บทจะ Present แต่ Expense by Function อย่างเดียว คนใช้งบเค้าลำบากที่จะ Forecast ครับ เพราะไม่รู้เลยว่าในไส้นั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง หลักการบัญชีเลยบอกว่า ถ้าหน้างบจะ Present แบบ Expense by Function ในหมายเหตุฯจะต้องมีข้อมูล Expense by nature Minimum 3 ลักษณะ คือ ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าใช้จ่ายผลประโยชน์ของพนักงาน ส่วนค่าใช้จ่ายลักษณะอื่นๆก็แล้วแต่เลยครับ

ทีนี้เราก็พอรู้แล้วเนอะ ว่าจริงๆตามหลักการแล้ว งบกำไรขาดทุน Present ค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ แต่ว่าถ้าเราดูงบในตลาด (หมายถึงงบบริษัท Listed ในไทยนะครับ) ทำไม๊ทำไมเราถึงเห็นแต่งบกำไรขาดทุนที่ Present แบบ Expense by Function (ต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่าย ค่าใช้จ่ายในการบริหาร)

ตามรูปเลยครับ คือเนื่องจาก มีกฎของ กลต. กำหนดให้บริษัทจะต้องแสดงงบกำไรขาดทุนด้วยวิธี Expense by Function ครับ (เข้าใจที่มายังที่ค่าใช้จ่าย 1 ลักษณะ ต้องเก็บข้อมูลหลาย Dimensions เหลือเกิน) และแน่นอนครับ ถ้าเราพลิกงบการเงินดูในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ทุกบริษัทก็จะต้องมีหมายเหตุฯ เรื่อง ค่าใช้จ่ายตามลักษณะ (Expense by Nature) อยู่ด้วย เพื่อให้เป็นไปตามหลักการทางบัญชีนั่นเองครับ

แต่เอ… ที่กฎหมายเค้าทิ้งท้ายไว้ว่า “เว้นแต่หน่วยงานทางการซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลการประกอบธุรกิจโดยตรงของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์กำหนดรูปแบบการจัดทำและนำเสนองบกำไรขาดทุนไว้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว” อันนี้คือยังไงกันนะ…หรือจริงๆแล้วหมายความว่างบทั้งตลาดก็ไม่ได้แสดงด้วยวิธี Expense by Function ทุกบริษัท

ผมเลยลองดูงบบริษัทใน SET 100 ดูครับ (ดูทั้ง SET ไม่ไหวครับ ขอบอกเลย ฮ่าๆ) เลยเห็นบริษัทบางกลุ่มที่ไม่ได้แสดงงบกำไรขาดทุนแบบวิธี Expense by Function ครับ

กลุ่มใหญ่เลยคือกลุ่ม Bank ตามรูปเลยครับ เนื่องจากกลุ่ม Bank เอง ถูกกำหนดโดยแบงก์ชาติในเรื่องรูปแบบการนำเสนองบกำไรขาดทุนเป็นการเฉพาะอยู่แล้วครับ

และกฎเกณฑ์นั้นก็คือ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 21/2558 เรื่อง การจัดทำและการประกาศงบการเงินของธนาคารพาณิชย์ และบริษัทโฮลดิ้งที่เป็นบริษัทแม่ของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน นั้นเองครับ (ย๊าวยาว นี่ถ้าพูดเองคงต้องหยุดหายใจประมาณ 3 รอบ) รูปแบบงบตามที่เห็นเลยครับ เราจะไม่เห็นกลุ่มค่าใช้จ่ายในการขายหรือบริหาร ในทางกลับกัน เราจะเห็นกลุ่มค่าใช้จ่ายที่แบ่งกลุ่มตามลักษณะแทน เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารสถานที่และอุปกรณ์ (ข้างในคือค่าเสื่อมราคา)

ส่วนอีกกลุ่มนึง อันนี้ Admin ไม่รู้จริงๆว่าทำไมถึงแสดงงบกำไรขาดทุนด้วยวิธี Expense by Nature ซึ่งก็คือ AOT และ THAI นั่นเองครับ (ใครรู้ช่วย Share เป็นความรู้ก็ได้ครับ)

ทีนี้เวลาอ่านงบกำไรขาดทุนของบริษัทในตลาดฯ ก็น่าจะพอรู้แล้วจะครับว่ารูปแบบโดยปกติมันจะต้องเป็นแบบ Expense by Function (ต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการจัดจำหน่าย ค่าใช้จ่ายในการบริหาร) และมีหมายเหตุเรื่อง Expense by Nature พ่วงต่อ ยกเว้นงบกลุ่ม Bank ที่จะมีรูปแบบเป็นของตัวเอง ซึ่งไม่เรียกว่า Expense by Function นะครับ

มิถุนายน 26, 2018
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ