ตั้งด้อยค่า : อย่าเพิ่งจับแพะชนแกะ

[ตั้งด้อยค่า : อย่าเพิ่งจับแพะชนแกะ]

จากประเด็นที่จะมีการผ่อนผันการตั้งด้อยค่าให้กับ บจ. เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (ซึ่ง ณ เวลานี้ยังไม่มีประกาศเป็นทางการออกมา)

สองสามวันมานี้ แอดเห็นข่าวหลายๆ แห่ง วิเคราะห์ในทำนองที่ว่า การไม่ต้องตั้งด้อยค่าตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) น่าจะส่งผลดีต่อบริษัท xxx ฯลฯ

ยกตัวอย่างเช่น
“ติดตามกรณีที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อาจอนุญาตให้หุ้นกลุ่มสายการบินยังไม่ต้องตั้งด้อยค่าตามมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ (TFRS9) ซึ่งจะเป็น “ข่าวดี” กับผู้ประกอบการทั้ง AAV, THAI, NOK และ BA”
Link : https://www.thunhoon.com/article/219906

ต้องบอกอย่างงี้ครับว่าการตั้งด้อยค่าในปัจจุบันประกอบไปด้วยมาตรฐานการบัญชีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1. การตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ทั่วๆไป เช่น ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ต้องปฏิบัติตาม มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 36 เรื่องการด้อยค่าของสินทรัพย์ (TAS 36) ซึ่งมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ต้องถือว่าเป็นมาตรฐานการบัญชีฉบับ “เก่า” (ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่) และหากมีการผ่อนผันจริงๆ แน่นอนครับ บริษัทที่จะได้รับประโยชน์ คงหนีไม่พ้น
– ธุรกิจสายการบิน ที่ต้องพิจารณาว่าควรจะต้องตั้งด้อยค่า “เครื่องบิน” หรือไม่ เนื่องจากรายได้จากผู้โดยสารที่ควรจะได้จากการบินเครื่องบิน หายไปเยอะมาก
– ธุรกิจโรงแรม ที่ต้องพิจารณาว่าควรจะต้องตั้งด้อยค่า “ตัวโรงแรม” หรือไม่ เนื่องจากรายได้จากผู้เข้าพักที่ควรจะได้จากหายไปเยอะมาก
– ธุรกิจห้างสรรพสินค้า หรือธุรกิจให้เช่าพื้นที่ ที่ต้องพิจารณาว่าควรจะต้องตั้งด้อยค่า “ตัวอาคารให้เช่า” หรือไม่ เนื่องจากรายได้จากผู้เช่าที่ควรจะได้จากหายไปเยอะมาก
– หรือแม้แต่ธุรกิจพลังงาน ที่ในช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำมันลดลงอย่างรุนแรง แหล่งน้ำมันต่างๆ ที่ได้ลงทุนไว้หากขายด้วยภาวะปัจจุบัน จะคุ้มราคาที่ได้ลงทุนไว้หรือไม่
เหล่านี้เป็นการตั้งด้อยค่าตาม TAS 36 หรือมาตรฐานการบัญชีฉบับเก่านะครับ

2. การตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น ลูกหนี้ หรือลูกหนี้เงินให้กู้ยืม ซึ่งจะต้องทำตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน หรือ TFRS 9 ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรฐานการบัญชีฉบับ “ใหม่” (มีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2563)

และหากมีการผ่อนผันจริงๆ คนที่ได้รับประโยชน์สุดๆ คงหนี้ไม่พ้นกลุ่มสถาบันการเงิน เพราะลูกหนี้เงินให้กู้หลายรายของธนาคาร ณ วันนี้ก็คงอ่วมไปกับสภาพเศรษฐกิจอยู่ไม่น้อย (แน่นอนว่ากระทบกับความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ให้กับธนาคาร)

ดังนั้นในการวิเคราะห์ผลกระทบ ควรต้องมั่นใจว่า การผ่อนผันดังกล่าวเป็นการผ่อนผันการด้อยค่าในมาตรฐาน “เก่า” (TAS 36) หรือ มาตรฐาน “ใหม่” (TFRS 9) เพราะจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่แตกต่างกันครับ

(ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจสายการบินคงได้รับประโยชน์จากการผ่อนผัน การตั้งด้อยค่าตาม TAS 36 หรือการด้อยค่าตามมาตรฐานการบัญชีฉบับ “เก่า” มากกว่า ตาม TFRS 9 หรือการด้อยค่าตามมาตรฐานการบัญชีฉบับ “ใหม่” เพราะในธุรกิจสายการบินนั้น สิ่งที่มีแนวโน้มจะด้อยค่าในช่วงเวลานี้ น่าจะเป็นตัวเครื่องบิน มากกว่าลูกหนี้เงินให้กู้ยืมครับ)

ณ เวลานี้ก็ติดตามประกาศอย่างเป็นทางการต่อไปครับ

มีนาคม 31, 2020
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ