บริษัทในตลาดฯ ปิดรอบปีบัญชีเดือนไหนกันบ้าง

[บริษัทในตลาดฯ ปิดรอบปีบัญชีเดือนไหนกันบ้าง]

จากตอนที่แล้วที่เราหัดอ่านการเรียกชื่องบ Quarter กันไปแล้ว
(อ่านตอนที่แล้วได้ที่ คลิก)

สำหรับตอนนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าบริษัทในตลาดฯ ปิดรอบปีบัญชีเดือนไหนกันบ้าง จะตรงปีปฏิทินกันเยอะขนาดไหน และที่ไม่ตรงปีปฏิทินจะมี Detail ปลีกย่อยยังไงกันบ้าง มาดูกันเลยครับผ๊มม

ผมลองสำรวจบริษัทในตลาดฯ 757 บริษัท สรุปได้ง่ายๆชัดๆเลยว่า บริษัทส่วนใหญ่มีรอบระยะเวลาบัญชีตรงตามปีปฏิทิน (สิ้นสุดรอบ 31 ธ.ค.) มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น คือ 44 บริษัทที่มีรอบระยะเวลาบัญชีไม่ตรงปีปฏิทินครับ

สำหรับบริษัทที่มีรอบระยะเวลาบัญชีไม่ตรงปีปฏิทิน 44 บริษัท พบว่าส่วนใหญ่ (35 บริษัท) จะมีวันสิ้นรอบตกสิ้นเดือนไตรมาสพอดี (สิ้นเดือน 3 6 และ 9) ส่วนที่เหลืออีก 9 บริษัทมีรอบไม่ตรงเดือนไตรมาส และเป็นที่น่าสังเกตว่ายังไม่มีบริษัทใดมีรอบบัญชีสิ้นสุดในสิ้นเดือน 4 8 และ 11 เลยครับ (ใครจะ Listed ลองปิดรอบปีบัญชีสิ้นเดือนพวกนี้ดูไหมครับ ไม่ซ้ำกับใครแน่นอน) … อ่อ อีกอย่างครับ จะเห็นว่า ทั้ง 757 บริษัทในปัจจุบัน มีวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีที่ตรงกับวันสิ้นเดือนทั้งหมดเลยครับ (เอ…ผมพูดอย่างนี้แล้วมันต้องมีประเด็นแน่ๆครับ ตามมาดูต่อกันเลยครับ)

ในอดีตก็เคยมีบริษัทที่มีวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีที่ไม่ตรงวันสิ้นเดือนนะครับ ในเวลานั้นเรียกเวลาโดดเด่นเป็นสง่าไม่มีใครซ้ำเลยครับ บริษัทนั้นก็คือ บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) นั่นเองครับ ในอดีต AEONTS มีรอบระยะเวลาบัญชีคือ 21 ก.พ. – 20 ก.พ. ของปีถัดไป เพิ่งจะมาเปลี่ยนรอบระยะเวลาบัญชีเป็น 1 มี.ค. – วันสุดท้ายของเดือน ก.พ. ของปีถัดไป ในรอบ 1 มี.ค. 2559 – 28 ก.พ. 2560 เองครับ

ทำไม AEONTS ถึงเปลี่ยนรอบระยะเวลาบัญชี แน่นอนครับ คำถามนี้ผู้ถือหุ้นต้องถามแน่ๆใน AGM เพื่ออนุมัติเปลี่ยนรอบฯ โดยบริษัทก็ได้ให้เหตุผลว่า เปลี่ยนตามบริษัทแม่ที่ได้เปลี่ยนรอบฯ และทำให้คำนวณค่าใช้จ่ายได้ตรงเดือนสากลมากขึ้นครับ

[เหตุผลเต็มๆ] “บริษัท อิออน ไฟแนนเชียล เซอร์วิส ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท ขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจไปในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทำให้ต้องเปลี่ยนรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทจึงต้องเปลี่ยนรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทให้สอดคล้องกันเพื่อประโยชน์ในการจัดทำงบการเงินรวม ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวเป็นผลดีกับบริษัทในด้านการคำนวณค่าใช้จ่ายตามเดือนสากลและสอดคล้องกับเดือนภาษีด้วย ทั้งยังสามารถเปรียบเทียบตัวเลขผลประกอบการกับคู่แข่งได้ดีกว่าและถูกต้องขึ้น”

หวังว่าจะเป็นเกร็ดความรู้เล็กน้อยๆนะครับ

ในตอนต่อๆไปผมตั้งใจว่าจะลองเอาตัวอย่างการเปลี่ยนรอบระยะเวลาของบริษัทอื่นๆมาให้ดูว่ามีเหตุอื่นๆอีกมากมายกันขนาดไหน … แล้วถ้ารอบบัญชีของบริษัทแปลกๆไม่ตรงปีปฏิทิน บริษัทแม่จะมีเรื่องที่ต้อง Manage อะไรอีกบ้าง ไว้ติดตามกันตอนต่อๆไปนะครับ

กันยายน 12, 2018
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ