AOT ตั้งด้อยค่าท่าอากาศยานหาดใหญ่ทั้งจำนวน

[AOT ตั้งด้อยค่าท่าอากาศยานหาดใหญ่ทั้งจำนวน]

สำหรับงบปี 2563 ของ AOT ที่ประกาศเมื่อตอนเย็นที่ผ่านมา มีรายการผลขาดทุนจากการด้อยค่าท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) จำนวน 1,228 ล้านบาท
.

เหตุผลที่บริษัทแจ้งคือ

– มีข้อบ่งชี้เนื่องจากปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารลดลงอย่างมีสาระสำคัญ

– Test แล้วด้อยค่าทั้งจำนวน !!!
.

ทั้งนี้การคำนวณการด้อยค่าในสินทรัพย์ท่าอากาศยานของ AOT ดูแล้วมีความพิเศษอย่างหนึ่งคือ ในการหามูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน (Recoverable Amount) ที่โดยปกติจะต้องเปรียบเทียบระหว่าง มูลค่าจากการใช้ (Value in Use) กับมูลค่ายุติธรรมหักต้นทุนในการจำหน่าย (Fair Value Less Cost of Disposal) แล้วเลือกตัวที่สูงกว่า
.

โดย AOT จะใช้ มูลค่าจากการใช้ (Value in Use) เป็น มูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน (Recoverable Amount) เพราะ Fair Value Less Cost of Disposal = 0 เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจาก “การปลูกสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างใดๆ ในที่ราชพัสดุตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง”
.

ดังนั้นในการคำนวณผลขาดทุนจากการด้อยค่า จึงใช้การเปรียบเทียบระหว่าง Book Value กับ Value in Use ครับ
.

อ่านรายละเอียดการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทได้ตามด้านล่างครับ

ในปี 2563 มีข้อบ่งชี้ว่าสินทรัพย์ของ ทหญ. อาจเกิดการด้อยค่าเนื่องจากปริมาณเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างมีสาระสำคัญ ฝ่ายบริหารจึงทดสอบการด้อยค่าสินทรัพย์ของ ทหญ. โดยได้ประเมินมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืน ซึ่งกำหนดจากมูลค่าการใช้สินทรัพย์แล้วพบว่า ไม่ครอบคลุมมูลค่าตามบัญชีคงเหลือของสินทรัพย์ จึงรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าทั้งจำนวน

กลุ่มบริษัทพิจารณาการด้อยค่าของสินทรัพย์ในระดับหน่วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเงินสดในระดับท่าอากาศยานแต่ละแห่ง โดยกำหนดมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับคืนจากมูลค่าจากการใช้ เนื่องจาก ทอท. เช่าใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุในการดำเนินกิจการท่าอากาศยาน ซึ่งระเบียบกระทรวงการคลังและกองทัพอากาศ ว่าด้วย “การให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุที่อยู่ในความปกครองดูแลและใช้ประโยชน์ของกองทัพอากาศอันเกี่ยวกับสนามบินดอนเมือง (บางส่วน) และสนามบินเชียงใหม่ (บางส่วน) พ.ศ.2545” ระเบียบกระทรวงการคลังและกรมการบินพาณิชย์ว่าด้วย“การให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุที่อยู่ในความปกครองดูแลและใช้ประโยชน์ของกรมการบินพาณิชย์อันเกี่ยวกับสนามบินอนุญาตในส่วนภูมิภาค พ.ศ.2545” และระเบียบกระทรวงการคลังและกรมการบินพาณิชย์ ว่าด้วย “การให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) ใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุที่อยู่ในความปกครองดูแลและใช้ประโยชน์ของกรมการบินพาณิชย์อันเกี่ยวกับสนามบินสุวรรณภูมิ พ.ศ.2545” โดยข้อ 8 ของทั้งสามระเบียบกำหนดให้การปลูกสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างใดๆ ในที่ราชพัสดุตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง มูลค่ายุติธรรมหักต้นทุนในการขายของทรัพย์สินส่วนใหญ่จึงมีค่าเท่ากับศูนย์

ในการพิจารณามูลค่าจากการใช้สินทรัพย์ ประมาณการจากกระแสเงินสดที่ได้ตลอดอายุการใช้งานของสินทรัพย์ตามระยะเวลาที่คาดไว้สำหรับการเช่าใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุถึงวันที่ 30 กันยายน 2595 โดยใช้ข้อสมมติฐานที่อ้างอิงจากแผนการเงินระยะยาวของ ทอท. และใช้อัตราการเจริญเติบโตคงที่สำหรับประมาณการกระแสเงินสดหลังจากปีที่ 5 ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่เกินไปกว่าอัตราเติบโตถัวเฉลี่ยระยะยาวของ ทอท. การประมาณการกระแสเงินสดนี้ ฝ่ายบริหารได้ศึกษา และพิจารณาความเป็นไปได้อย่างสมเหตุสมผลของทางเลือกร่วมกับประมาณการจราจรทางอากาศ ซึ่งเป็นการประมาณการที่ดีที่สุดมาประกอบการคำนวณโดยใช้อัตราต้นทุนของเงินลงทุนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักก่อนภาษี (WACC) ของ ทอท. ในอัตราร้อยละ 8.00 เป็นอัตราคิดลด

พฤศจิกายน 24, 2020
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ