“หนี้สินผลประโยชน์พนักงาน” ควรจะเริ่มตั้งเมื่อใด ?

[“หนี้สินผลประโยชน์พนักงาน” ควรจะเริ่มตั้งเมื่อใด ?]

ในช่วงกลางปี 2564 ที่ผ่านมา IFRS Interpretations Committee ได้ออกการตีความ หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า Final Agenda Decision เรื่อง การจัดสรรผลประโยชน์ไปยังงวดที่มีการให้บริการ (Attributing Benefit to Periods of Service)
.
ซึ่งเนื้อหาการตีความในเรื่องนี้เป็นเรื่องท้าทายทางความคิด (รวมไปถึงความเข้าใจ) ในประเด็นการตั้งหนี้สินผลประโยชน์พนักงานหลังออกจากงานไม่น้อยเลยทีเดียวครับ
.
สาระสำคัญของการตีความฉบับนี้ คือ กิจการควรจะรับรู้ค่าใช้จ่าย หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ ควรจะเริ่มตั้งหนี้สินผลประโยชน์พนักงานหลังออกจากงานเมื่อใด
.
โดยคำถามสำคัญ คือ
– ควรจะทยอยรับรู้หนี้สินตั้งแต่วันที่พนักงาน Join กับบริษัท หรือ
– ค่อยไปเริ่มตั้งเมื่อวันที่เข้าสู่เกณฑ์อายุงานสูงสุด (เช่น เกษียณ อายุ 60 ปี, ระยะเวลาที่นับผลประโยชน์สูงสุด เท่ากับ 20 ปีก่อนเกษียณ ก็เริ่มตั้งหนี้สินตอนพนักงานอายุ 40 ปี)
.
สิ่งที่น่าสนใจคือ IFRS Interpretations Committee ได้ตีความว่า ให้เริ่มตั้งหนี้สินตั้งแต่วันที่เข้าสู่เกณฑ์อายุงานสูงสุด (ตามตัวอย่างง่ายๆที่ยกไปก่อนหน้า คือต้องตั้งหนี้สินตอนพนักงานอายุ 40 ปี ไม่ใช่ตอนที่พนักงานเริ่ม Join กับบริษัท)
.
การตีความดังกล่าวก็เรียกได้ว่าเป็นเรื่องท้าทายต่อวิธีปฏิบัติในปัจจุบันสำหรับการตั้งหนี้สินผลประโยชน์ในประเทศไทยไม่น้อยเลยครับ เนื่องจากโดยส่วนใหญ่ บริษัท (โดยนักคณิตศาสตร์ประกันภัย) ก็มักจะเริ่มตั้งหนี้สินดังกล่าว ตั้งแต่วันที่พนักงานเริ่ม Join กับบริษัท
.
อย่างไรก็ดี ก็ถือเป็นเสน่ห์ของการใช้ IFRS ครับ เนื่องจากข้อกำหนดของกฎหมายแรงงานสำหรับประเทศไทยนั้น อาจไม่ได้เหมือน Fact Pattern ตามที่ IFRS Interpretations Committee ได้ระบุไว้ซะทีเดียว (ซึ่ง Fact Pattern ที่สำคัญ ของ IFRS Interpretations Committee คือ พนักงานจะได้รับผลประโยชน์เมื่อเกษียณอายุ)
.
ในบริบทของกฎหมายไทย บริษัทจะต้องจ่ายเงินชดเชยในกรณีที่เลิกจ้างพนักงาน (โดยที่ไม่ใช่ความผิดของพนักงาน) นอกจากเหตุเกษียณอายุด้วย
.
ดังนั้นคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี จึงมีความเห็นว่า ในบริบทกฎหมายแรงงานในประเทศไทย สำหรับกิจการที่อยู่ภายในกฎหมายแรงงาน กิจการควรรับรู้หนี้สินผลประโยชน์หลังออกจากงานโดยให้รับรู้ “ตั้งแต่วันที่พนักงานเริ่มเข้าทำงาน” ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่พนักงานเกษียณอายุนั่นเองครับ
.
แต่ก็ใช่ว่าพอเห็นการตีความแบบนี้แล้วจะสบายใจ 100% นะครับ อย่าลืมว่าสำหรับบริษัทที่มีการดำเนินงานในต่างประเทศ ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีข้อกำหนดของกฎหมายแรงงานในประเทศดังกล่าวตรงกับ Fact Pattern ตามที่ระบุอยู่ใน Agenda Decision
.
อ่านคำถาม – คำตอบ เรื่อง การจัดสรรผลประโยชน์ไปยังงวดที่มีการให้บริการ กรณีผลประโยชน์หลังออกจากงาน ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 19 เรื่อง ผลประโยชน์ของพนักงาน ได้ตามรูปด้านล่างหรือตาม Link ได้เลยครับ
.
https://acpro-std.tfac.or.th/…/%E0%B8…/Q_A-website.pdf

มกราคม 3, 2022
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ