เหตุผลของรายการปรับปรุงแก้ไขงบการเงิน (Audit Adjustments) : หนังคนละม้วนระหว่าง Auditor กับ Preparer

[เหตุผลของรายการปรับปรุงแก้ไขงบการเงิน (Audit Adjustments) : หนังคนละม้วนระหว่าง Auditor กับ Preparer]

ช่วงเวลานี้ถือได้ว่ากำลังอยู่ในช่วงการจัดทำงบ Q3/2020 หลายบริษัทกำลังจัดทำงบการเงินกันอย่างขยันขันแข็ง หลายบริษัทกำลังให้ Audit Review งบการเงินอยู่ Audit หลายท่านกำลังนั่ง Review งบลูกค้า หรืออีกบางส่วนก็ยังคงนั่งรอ TB จากลูกค้าท่ามกลางสายฝนที่ตกอยู่ทุกวันในช่วงนี้
.

วันนี้จึงขอนำบางมุมที่น่าสนใจของ Study เรื่อง Audit Adjustments ที่เกี่ยวกับ เหตุผลของรายการปรับปรุงแก้ไขงบการเงิน มาเล่าสู่กันฟัง … อ่านเสร็จแล้วคิดเห็นอย่างไร หรือจริงๆแล้ว อาจตีความในมุมมองอื่นได้อีก ก็สามารถ Comments กันได้ครับ
.

เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมาสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้จัดทำการศึกษาเรื่อง “The Study of Audit Adjustments and the Relationship between Characteristics of Financial Statement Preparers and Audit Adjustments” กับงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปี 2561 ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนที่เข้าร่วมโครงการศึกษา 189 บริษัท
.

การศึกษาดังกล่าว เป็นการศึกษารายการปรับปรุงแก้ไขงบการเงินซึ่งรวมถึงรายการที่ผู้สอบบัญชี หรือ ผู้มีหน้าที่จัดทำงบการเงินพบ และเสนอให้แก้ไข ให้เปิดเผยข้อมูลเพิ่ม หรือให้จัดประเภทรายการใหม่ หลังจากที่ผู้มีหน้าที่จัดทางบการเงินได้ส่งมอบงบทดลองให้แก่ผู้สอบบัญชีแล้ว
.

ต้องย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า Audit Adjustments ที่ว่านั้น ส่วนใหญ่แล้วบริษัทก็ได้ปรับปรุงให้ถูกต้องก่อนที่จะนำส่งงบการเงินแล้วนะครับ (หากท่านที่อยู่ในวงการจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า การปรับปรุงงบหลังส่ง Trial Balance ให้ Auditor นั้น เป็นเรื่องพบก็ได้อยู่แล้วในการทำงานจริง แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ต้องมั่นใจว่าสุดท้ายแล้วงบการเงินที่ส่งตลาดฯ นั้น จะต้องไม่มีข้อผิดพลาดที่เป็นสาระสำคัญ)
.

ผลการศึกษาของงานศึกษานี้ได้ให้องค์ความรู้กับสังคมในวงกว้างในหลายๆ ประเด็น โดยการพยายามค้นหาคำตอบของคำถามที่สำคัญซึ่งก็คือ Audit Adjustments มีความสัมพันธ์กับปัจจัยใดบ้าง เพื่อที่จะนำมาสู่ผลสรุปการศึกษาและข้อเสนอแนะว่า บริษัทควรจะให้ความสำคัญกับประเด็นใดบ้าง เพื่อให้การจัดทำรายงานทางการเงินมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น (พูดง่ายๆก็คือการทำให้ Audit Adjustments ลดลงนั่นเอง)
.

นอกจากประเด็นหลักของการศึกษาตามที่ได้เล่าไปแล้ว ข้อมูลจากการศึกษาในหลายๆ ประเด็น ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย หนึ่งในนั้นคือ
.

“เหตุผลของรายการปรับปรุงแก้ไขงบการเงิน (Audit Adjustments)”
.

จากข้อมูลการศึกษาพบว่าในมุมผู้ทำบัญชี (มุมบริษัท) พยายามที่จะอธิบายสาเหตุของรายการปรับปรุงแก้ไขงบการเงิน ว่า

✅ ส่วนใหญ่กว่า 51% มาจากเรื่องจำพวกประเด็นที่ต้องใช้ Judgement / Accounting Estimation / การตีความ (29% – การใช้ดุลยพินิจเรื่องการประมาณการทางบัญชี, 22% การประมาณการทางบัญชีที่ไม่ถูกต้องจากการมองข้ามข้อเท็จจริงหรือตีความข้อเท็จจริงผิด)

✅ ในขณะที่ประเด็นความไม่ถูกต้องในการรวบรวมหรือประมวลผลข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำงบการเงิน (แอดขอเรียกง่ายๆ ว่าประเด็นที่พลาดกันเห็นๆ) มีเพียง 28% เท่านั้น
.

ในด้านของผู้สอบบัญชีกันบ้างครับ ในมุมของผู้สอบบัญชีเองกลับมองว่าสาเหตุของรายการปรับปรุงแก้ไขงบการเงินส่วนใหญ่มี 2 เรื่อง คือ

✅ ความไม่ถูกต้องในการรวบรวมหรือประมวลผลข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำงบการเงินและความผิดพลาดจากข้อเท็จจริงอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง ที่ 42%

✅ และ 40% เป็นเรื่อง การจัดประเภทรายการเพื่อนำเสนองบการเงิน

✅ ในขณะที่เรื่อง จำพวกประเด็นที่ต้องใช้ Judgement / Accounting Estimation / การตีความ นั้นมีเพียง 11% เท่านั้น
.

พูดให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า การปรับปรุงงบการเงินในช่วงที่ Audit เข้ามาตรวจนั้น ในมุมบริษัทเองก็มองว่าเรื่องที่ปรับปรุงไปนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มองได้หลายแง่ เป็น Judgement เป็นเรื่องที่ Debatable
.

แต่ในมุมของผู้สอบบัญชีกลับมองว่า ส่วนใหญ่ของประเด็นที่ปรับปรุงนั้น กลับเป็นเรื่องขาวกับดำ ผิดกับถูก หรือมองเห็นอยู่ชัดๆอยู่แล้ว (ว่ามันไม่ใช่) ซะมากกว่า
.

งานศึกษานี้ได้อธิบายประเด็นนี้ว่า “ผู้มีหน้าที่จัดทำงบการเงินยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสาเหตุของรายการปรับปรุงและแก้ไขงบการเงิน” (การสรุปแบบนี้ได้ แอดเข้าใจเอาเองว่าวิธีการวิจัยนั้น สามารถสรุปได้ว่าฝั่งที่เข้าใจคลาดเคลื่อน คือ ฝั่ง “ผู้ทำบัญชี” ไม่ใช่ “ผู้สอบบัญชี”) โดยงานศึกษานี้ได้ให้คำแนะนำต่อประเด็นนี้ว่า “ผู้สอบบัญชีและผู้ที่มีหน้าที่จัดทำงบการเงิน ควรมีการสื่อสารถึงสาเหตุของแต่ละรายการปรับปรุงและแก้ไขงบการเงิน เพื่อให้ผู้มีหน้าที่จัดทำงบการเงินและผู้บริหารของกิจการได้ทราบเพื่อป้องกันการเกิดรายการดังกล่าวในปีถัดไป”
.

และสุดท้ายงานศึกษานี้ได้สรุปจบในประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ (และชวนให้คิดตาม ถึงภาพจริงในทางปฏิบัติว่า จริงหรือไม่ที่) “เหตุผลหลักของรายการปรับปรุงและแก้ไขงบการเงินคือ ความไม่ถูกต้องในการรวบรวมหรือประมวลผลข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำงบการเงินโดยไม่ใช่ประเด็นเกี่ยวกับการใช้ดุลยพินิจ”
.

จึงเป็นที่มาของหัวเรื่องที่แอดจั่วหัวไว้ว่า “หนังคนละม้วน” นั่นเอง
.

Source บทสรุปสำหรับผู้บริหาร : “The Study of Audit Adjustments and the Relationship between Characteristics of Financial Statement Preparers and Audit Adjustments”

ตุลาคม 13, 2020
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ