BH ยกเลิกการใช้มาตรการผ่อนปรนทางบัญชี COVID-19 แล้ว กระทบอะไรบ้าง ?

[BH ยกเลิกการใช้มาตรการผ่อนปรนทางบัญชี COVID-19 แล้ว กระทบอะไรบ้าง ?]

ตามที่สภาวิชาชีพบัญชีได้ประกาศใช้แนวปฏิบัติทางการบัญชี เรื่อง มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 และมีผลบังคับใช้สำหรับการจัดทำงบการเงินที่มีรอบระยะเวลารายงานสิ้นสุดภายในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 และไม่มีการต่ออายุของมาตรการผ่อนปรนฯ ออกไปจากกำหนดเวลาเดิม
.

อย่างไรก็ดีบริษัทสามารถยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนดังกล่าวสำหรับการจัดทำงบการเงินในรอบระยะเวลาสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ได้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือหากต้องการยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนก่อนกำหนดเวลา ก็สามารถทำได้
.

คำถามสำคัญของบริษัทที่ได้เลือกใช้มาตรการผ่อนปรนทางบัญชี COVID-19 ในช่วงไตรมาสที่ผ่าน ๆ มา เมื่อต้องจัดทำงบ Year End 2563 ก็คือ (สำหรับบริษัทที่มีรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.)

• จะยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนในงบปี 2563 นี้เลย และจะต้องรับรู้ผลกระทบในงบปี 2563 นี้ทันที (หากมี) หรือ

• จะยังคงใช้มาตรการผ่อนปรนต่อไปในงบปี 2563 แล้วค่อยยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนในงบปี 2564 และจะต้องรับรู้ผลกระทบในงบปี 2564 (หากมี)
.

นอกจากนี้ประเด็นที่มักถูกกล่าวถึงอีกประการหนึ่ง คือ ณ ช่วงเวลาที่บริษัทยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนนั้น บริษัทจะได้รับผลกระทบขนาดไหน เพราะต้องไม่ลืมว่าการใช้มาตรการผ่อนปรนนั้นเปรียบได้กับการ “อั้น”ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของ COVID-19 เอาไว้อยู่นั่นเอง
.

BH หรือ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) ก็เป็นหนึ่งในหลายๆ บริษัทที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งในด้านผลประกอบการของบริษัท ซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ดังเช่น กำไรในช่วง 9M/2563 ที่ลดลงกว่า 64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมไปถึงผลกระทบด้านความไม่แน่นอนจาก COVID-19 ต่อการวัดมูลค่ารายการทางบัญชีในหลายๆประเด็น จึงทำให้ BH ได้เลือกใช้มาตรการผ่อนปรนทางบัญชี COVID-19 ตั้งแต่ไตรมาส 1/2563 จนถึงไตรมาส 3/2563 ในหลายประเด็นดังนี้
.
– เลือกที่จะไม่ต้องนำข้อมูลที่มีการคาดการณ์ไปในอนาคต (Forward-looking information) มาใช้วัดมูลค่าของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ในกรณีที่กลุ่มบริษัทใช้วิธีการอย่างง่ายในการวัดมูลค่าของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

– เลือกที่จะวัดมูลค่าเงินลงทุนในตราสารทุนที่ไม่อยู่ในความต้องการของตลาดด้วยมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่ 1 มกราคม 2563

– เลือกที่จะพิจารณาให้น้ำหนักของข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 เป็นน้ำหนักที่น้อยในเทคนิคการประเมินมูลค่ายุติธรรม สำหรับการวัดมูลค่ายุติธรรมตามข้อมูลระดับ 2 หรือระดับ 3 ของสินทรัพย์ทางการเงินเฉพาะที่เป็นตราสารหนี้

– เลือกที่จะไม่นำสถานการณ์ COVID-19 มาถือเป็นข้อบ่งชี้ของการด้อยค่า ตามมาตรฐาน การบัญชี ฉบับที่ 36 เรื่อง การด้อยค่าของสินทรัพย์

– เลือกที่จะไม่นำข้อมูลจากสถานการณ์ COVID-19 ที่อาจจะกระทบต่อการประมาณการกระแสเงินสดในอนาคตมาใช้ประกอบการทดสอบการด้อยค่าของค่าความนิยม
.

อ่านมาถึงตรงนี้ หากเป็นผู้ถือหุ้นก็แอบกังวลเหมือนกันครับ ว่าเมื่อ BH ยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนแล้ว จะเกิดผลกระทบขนาดไหน (และเมื่อไหร่)
.

เมื่อวาน (22 ก.พ. 64) BH ได้ประกาศงบปี 2563 ออกมาแล้ว และได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการใช้มาตรการผ่อนปรนทางบัญชี COVID-19 ดังนี้
.

“ในระหว่างไตรมาสที่ 1 ถึง 3 ของปี 2563 กลุ่มบริษัทได้เลือกปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีในเรื่องการวัดมูลค่าผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามวิธีการอย่างง่าย การวัดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในตราสารทุนที่ไม่อยู่ในความต้องการของตลาดและสินทรัพย์ทางการเงินเฉพาะที่เป็นตราสารหนี้ และการด้อยค่าของสินทรัพย์
.

ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 กลุ่มบริษัทได้ประเมินผลกระทบทางการเงินเกี่ยวกับมูลค่าของสินทรัพย์จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้ว ดังนั้น ในการจัดทำงบการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 กลุ่มบริษัท จึงพิจารณายกเลิกการถือปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีสำหรับทุกเรื่องที่กลุ่มบริษัทได้เคยถือปฏิบัติในช่วงที่ผ่านมา”
.

ก็เป็นอันว่า BH เลือกที่จะยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนทางบัญชี COVID-19 ในงบปี 2563 โดย “ยุติ” การใช้มาตรการผ่อนปรนทางบัญชี COVID-19 “ทุกข้อ” ที่ได้เคยเลือกใช้มา
.

กลับมาถึงประเด็นที่ต้องลุ้นกันต่อ คือ แล้ว BH จะได้รับผลกระทบมากน้อยขนาดไหนเมื่อยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนทางบัญชี COVID-19
.

BH ได้เปิดเผยข้อมูลต่อไปว่า “กลุ่มบริษัทจึงพิจารณายกเลิกการถือปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีสำหรับทุกเรื่องที่กลุ่มบริษัทได้เคยถือปฏิบัติในช่วงที่ผ่านมา โดยไม่มีผลกระทบอย่างมีสาระสำคัญต่องบการเงินของกลุ่มบริษัท”
.

โดยสรุปก็คือ ไม่มีผลกระทบอย่างมีสาระสำคัญจากการยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนนั่นเองครับ
.

[แอดลองเข้าไปดูหมายเหตุประกอบงบการเงินในหัวข้อ PPE / IA / Goodwill ก็ไม่พบ Movement ของ Impairment แต่อย่างใด อย่างไรก็ดีพบว่ามี FV Change ของ ตราสารทุน-FVOCI ลดลงประมาณ 1.5 ล้านบาทในไตรมาส 4/2563 เท่านั้น]
.

นอกจากนี้ผู้สอบบัญชีของ BH ซึ่งก็คือ EY ก็ได้เขียนไว้ในรายงานของผู้สอบบัญชี วรรคข้อมูลและเหตุการณ์ที่เน้นไว้อย่างชัดเจนว่า
.

“ข้าพเจ้าขอให้สังเกตหมายเหตุประกอบงบการเงินรวมข้อ 1.2 และข้อ 3 ในระหว่างไตรมาสที่ 4 ปี 2563 กลุ่มบริษัทได้ประเมินผลกระทบทางการเงินเกี่ยวกับมูลค่าของสินทรัพย์ ประมาณการหนี้สิน และหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แล้ว ดังนั้น ในการจัดทำงบการเงินรวมและเฉพาะกิจการสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 กลุ่มบริษัทจึงพิจารณายกเลิกการถือปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางการบัญชี เรื่อง มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ประกาศโดยสภาวิชาชีพบัญชีสำหรับทุกเรื่องที่กลุ่มบริษัทได้เคยถือปฏิบัติในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีผลกระทบอย่างมีสาระสำคัญต่องบการเงินรวมและเฉพาะกิจการของบริษัทฯ
.

ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ปัจจุบันยังมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางธุรกิจของกลุ่มบริษัทในส่วนที่เกี่ยวกับรายได้จากการประกอบกิจการโรงพยาบาล ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และกระแสเงินสด ตลอดจนการดำรงอัตราส่วนทางการเงินตามข้อกำหนดของการกู้ยืมเงินในปัจจุบันและในอนาคตของกลุ่มบริษัท ฝ่ายบริหารของกลุ่มบริษัทมีการติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์ดังกล่าวและประเมินผลกระทบทางการเงินเกี่ยวกับมูลค่าของสินทรัพย์ ประมาณการหนี้สินและหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งฝ่ายบริหารได้ใช้ประมาณการและดุลยพินิจในประเด็นต่าง ๆ เมื่อสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง
.

ทั้งนี้ ข้าพเจ้ามิได้แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขต่อกรณีนี้แต่อย่างใด”
.

สำหรับ Case ของ BH ก็ถือเป็นตัวอย่างการยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนทางบัญชี COVID-19 ที่แอดอดไม่ได้ที่จะบอกว่า “จบได้สวย” เลยทีเดียวครับ
.

บทความนี้ไม่ได้ชี้นำหรือให้คำแนะนำการซื้อขายหลักทรัพย์ โปรดศึกษาข้อมูลจากบริษัทอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจลงทุนครับ

กุมภาพันธ์ 23, 2021
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ