บจ. ไทย เริ่มขุด Bitcoin แล้ว … ลงบัญชีอย่างไร กรณีศึกษา JTS : บริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน)

[บจ. ไทย เริ่มขุด Bitcoin แล้ว … ลงบัญชีอย่างไร กรณีศึกษา JTS : บริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน)]

ตามที่ Accounting Analysis ได้เขียนบทความและ Case ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางบัญชีของ Digital Assets ไว้หลายตอน ซึ่งที่ได้เล่าให้ Fanpage ฟังไปทั้งหมดนั้น ก็ล้วนแต่เป็น Area ทางฝั่งผู้ถือ (Holder) หรือฝั่งผู้ออก (Issuer) เท่านั้น
.
แต่ใน Ecosystem ของ Digital Assets ก็ยังมี Player ที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง คือ Validating Entities หรือหากพูดภาษาง่ายๆ แบบให้เข้าใจกันโดยทั่วไป ก็คือ ผู้ขุด (หรือ Miners) นั่นเอง
.
และในไตรมาส 3/21 นี้ เราก็ได้เห็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เริ่มทำธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ (Bitcoin Mining) กันแล้วครับ นั่นก็คือ JTS ครับ
.
JTS หรือ บริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเดิมคือ บริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งการดำเนินธุรกิจใหม่ของบริษัทย่อย ซึ่งก็คือ บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด (“JasTel”) ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ว่าจะดำเนินการลงทุนใน “ธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ (Bitcoin Mining)”
.
และเมื่อวาน (05.11.21) ช่วงเย็นๆ JTS ก็ได้ประกาศงบการเงิน Q3/21 ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรามาดูกันครับว่า การทำธุรกิจ Bitcoin Mining จะมีประเด็นด้านการลงบัญชี รวมไปถึงผลกระทบต่องบการเงินอย่างไร … มาติดตามกันครับ

ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา JTS ได้แจ้งการดำเนินธุรกิจใหม่ของบริษัทย่อย ซึ่งก็คือ บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด (“JasTel”) ว่าจะดำเนินการลงทุนใน “ธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ (Bitcoin Mining)” โดย JTS ระบุว่าธุรกิจดังกล่าวถือเป็น “ธุรกิจใหม่” ที่ JTS ได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจนี้เป็นอย่างดีมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และเห็นว่าการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวเป็นการลงทุนในระยะยาว อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้ใหม่ให้แก่ JTS ได้
.

สำหรับรายละเอียดการลงทุนในเบื้องต้นที่ JTS ได้ประกาศในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา JTS ก็ได้ระบุว่า “ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท JasTel ครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ได้มีมติอนุมัติการลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ โดยมีมูลค่าการลงทุนทั้งหมดจำนวน 156.7 ล้านบาท ซึ่งอุปกรณ์หลักประกอบด้วยเครื่องขุดบิตคอยน์จำนวน 500 เครื่อง ซึ่งได้ทยอยสั่งซื้อและจะติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจใหม่นี้อย่างต่อเนื่อง”
.

หลังจากนั้นในปลายเดือนสิงหาคม 2564 JTS ก็ได้แจ้งความคืบหน้าของการลงทุนดังกล่าวว่า “ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 มีมติอนุมัติให้บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด (“JasTel”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ เข้าลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ (Bitcoin Mining) ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่ JasTel อยู่ในช่วงเริ่มลงทุนโดยได้จัดซื้อเครื่องขุดบิตคอยน์ไปแล้ว 200 เครื่อง มูลค่า 50.01 ล้านบาท และอนุมัติการซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจดังกล่าวเพิ่มเติม ได้แก่ 1) เครื่องขุดบิตคอยน์จำนวน 1,200 เครื่องและ 2) ระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่น ๆ จากผู้ขาย ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 269.35 ล้านบาท โดยมูลค่าการลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ (Bitcoin Mining) จำนวนรวมทั้งสิ้น 319.36 ล้านบาท”
.

ซึ่งก็สรุปคร่าวๆ ได้ว่า JasTel จะลงทุนในเครื่องขุดบิตคอยน์ทั้งสิ้น 1,400 เครื่อง รวมทั้งระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่น ๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 319.36 ล้านบาทนั่นเองครับ
.

หากย้อนกลับมาในประเด็นคำถามว่า ทำไมถึงต้องซื้อเครื่องขุด Bitcoin หรืออีกนัยหนึ่งคือ เครื่องขุด Bitcoin มีความสำคัญต่อธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ (Bitcoin Mining) อย่างไร JTS ก็ได้อธิบายไว้ว่า การลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์นั้น จะต้องจัดซื้ออุปกรณ์เฉพาะทางจำนวนมากเพื่อให้มีพลังประมวลผล (Total Hash Rate) สูง และเข้าร่วมกับ Mining Pool เพื่อให้ได้ผลตอบแทนของบิตคอยน์จากการขุดอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลตอบแทนหรือ Bitcoin ที่ได้นั้น ขึ้นกับสัดส่วนของพลังงานการประมวลผลของบริษัท เทียบกับพลังประมวลผลรวมทั่วโลก (Total Hash Rate) ณ ขณะนั้น ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา

ประเด็นถัดมา เมื่อ JTS “ขุด” จนได้ผลตอบแทนเป็น Bitcoin ออกมาแล้วนั้น JTS จะต้องรับรู้รายการ Bitcoin นี้อย่างไร
.

JTS ก็ได้เปิดเผยข้อมูลไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน นโยบายการบัญชีที่สำคัญ – รายได้จากการขุดสกุลเงินดิจิทัล ไว้ว่า
.

“กลุ่มบริษัทได้เข้าร่วมกับผู้ให้บริการเหมืองขุดบิทคอยน์แบบกลุ่ม (Bitcoin mining pool) โดยทำการประมวลผลเพื่อตรวจสอบและยืนยันการทำธุรกรรมในระบบบล็อกเชน โดยกลุ่มบริษัทจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของสกุลเงินดิจิทัลจากผู้ให้บริการเหมืองขุดบิทคอยน์แบบกลุ่ม
.

รายได้จากการให้บริการจะรับรู้เมื่อกลุ่มบริษัทได้ให้บริการและได้รับเหรียญสกุลเงินดิจิทัลจากผู้ให้บริการเหมืองขุดบิทคอยน์แบบกลุ่มแล้ว โดยแสดงมูลค่าตามมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่ได้รับเหรียญสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งใช้ราคาปิดจากเว็บไซต์กลางที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับราคาสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัล (www.coinmarketcap.com) (“CoinMarketCap”)”
.

สรุปก็คือ รับรู้รายได้โดยใช้ Fair Value ณ วันที่ได้รับ Bitcoin
.

อย่างไรก็ดี แม้ว่า Transaction นี้ ที่เรามักจะเรียกกับเร็วๆ ว่า “การขุด Bitcoin” นั้น อาจจะดูเหมือนเป็นการผลิตสินค้าบางอย่าง (ที่อาจทำให้คิดถึงธุรกิจการผลิตสินค้าในโรงงานต่างๆ หรือบางทีอาจจะเผลอคิดไปว่าเป็น “ธุรกิจเหมือง” อะไรทำนองนั้น)
.

แต่ในเนื้อหาแล้ว มันคือการให้บริการ “ประมวลผลเพื่อตรวจสอบและยืนยันการทำธุรกรรมในระบบบล็อกเชน” โดยจะได้รับ Bitcoin เป็นผลตอบแทน
.

ดังนั้นด้วยหลักการการวัดมูลค่ารายได้ตาม TFRS 15 เรื่อง รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า ก็ถือว่าเป็นการให้บริการโดยได้รับ “สิ่งตอบแทนที่ไม่ใช่เงินสด (Non-cash consideration)” ซึ่งโดยหลักการแล้วบริษัทจะต้อง “วัดมูลค่าสิ่งตอบแทนที่ไม่ใช่เงินสดที่โอนให้ดังกล่าวด้วยมูลค่ายุติธรรม” จึงเป็นที่มาของข้อสรุปที่ว่า “รับรู้รายได้โดยใช้ Fair Value ณ วันที่ได้รับ Bitcoin”

เมื่อเราดูข้อมูลการแจ้งผลการดำเนินงานประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ของ JTS ก็พบว่า JTS มีรายได้จากการขายและบริการในส่วนของ “ธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์” ใน Q3/21 อยู่ที่ 4.22 ล้านบาท หรือคิดเป็นจำนวน 2.81824411 เหรียญบิทคอยน์
.

หากดูหน้างบกำไรขาดทุน รายได้จากธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์ดังกล่าว ก็รวมอยู่ในบรรทัด “รายได้จากการขายและบริการ”

เมื่อเราทำความรู้จักกับหลักการทางฝั่งรายได้ของธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์กันไปแล้ว ก็มาดูฝั่งต้นทุนของธุรกิจนี้กันบ้างครับ
.

JTS ได้ระบุว่า มีต้นทุนการดำเนินการหลัก เป็นค่าไฟฟ้าซึ่งคงที่ และแปรผันตรงกับจำนวนเครื่องขุด
.

และก็ต้องไม่ลืมนะครับว่า นอกจากค่าไฟฟ้าแล้ว ยังมีต้นทุนเครื่องขุดบิตคอยน์ รวมทั้งระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่บริษัทก็จะต้องรับรู้ค่าใช้จ่ายในรูปของค่าเสื่อมราคาอีกเช่นกัน
.
อย่างไรก็ดีวิธีการคิดค่าเสื่อมราคาเครื่องขุดบิตคอยน์ ของ JTS ก็ไม่ใช่ วิธีเส้นตรง แบบง่ายๆ นะครับ
.

โดย JTS ได้กำหนดนโยบายการบัญชีไว้ว่า ค่าเสื่อมราคาของอุปกรณ์เครื่องขุดสกุลเงินดิจิทัล (ที่รวมอยู่ในที่ดิน อาคารและอุปกรณ์) นั้น คำนวณจากราคาทุนโดย “วิธีผลรวมจำนวนปี (sum-of-the-years’-digits)” ตามอายุการให้ประโยชน์โดยประมาณ 3 ปี
.

ซึ่งวิธีผลรวมจำนวนปีนี้ ก็ถือเป็นหนึ่งในวิธีการคิดค่าเสื่อมราคาแบบ “วิธีอัตราเร่ง” ซึ่งก็แปลความได้ว่า จะมีค่าเสื่อมราคาที่สูงในช่วงปีแรกๆ และจะลดลงในปีหลังๆ
.

การที่ JTS ได้เลือกใช้ “วิธีผลรวมจำนวนปี” ในการคิดค่าเสื่อมราคาของเครื่องขุดบิตคอยน์ ก็น่าจะเป็นการสะท้อนรูปแบบของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตที่ JTS คาดว่าจะได้รับจากเครื่องขุดบิตคอยน์ ในรูปแบบที่ “สูงในปีแรกๆ แล้วค่อยๆ ลดลงในปีหลังๆ” นั่นเองครับ

เมื่อ JTS ได้รับผลตอบแทนเป็น Bitcoin มาแล้ว JTS เองก็ถือว่ามีบทบาทอีกบทบาทหนึ่ง กล่าวถือ จะกลายเป็นผู้ถือ (Holder) Bitcoin
.

ตามการตีความของ IFRS Interpretations Committee แล้ว การบันทึกบัญชีสำหรับผู้ถือ Cryptocurrency ก็อาจมองได้ 2 แนวทาง คือ

1. เป็น “สินค้าคงเหลือ” (Inventory) ตาม IAS 2 กรณีที่กิจการถือไว้เพื่อขาย หรือ

2. เป็น “สินทรัพย์ไม่มีตัวตน” (Intangible Asset) ตาม IAS 38
.

JTS ก็ได้มองว่าเป็น สินทรัพย์ไม่มีตัวตน (Intangible Asset) โดยใช้วิธีราคาทุน (Cost Model) สำหรับ Bitcoin ที่ตัวเองถืออยู่ ซึ่งมีรายละเอียดดังที่ JTS ได้อธิบายไว้ว่า
.

“เนื่องจากธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลเป็นธุรกรรมที่ใหม่สำหรับทั่วโลก และยังไม่ได้มีมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง กลุ่มบริษัทได้พิจารณาว่าการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลมีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนระยะยาว จึงได้นำหลักการของมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 38 เรื่อง สินทรัพย์ไม่มีตัวตน มาประยุกต์ใช้ และจัดประเภทไว้เป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
.

กลุ่มบริษัทบันทึกต้นทุนเริ่มแรกของสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลตามราคาทุน ซึ่งเป็นมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่ได้สินทรัพย์มา ภายหลังการรับรู้รายการเริ่มแรก สินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลแสดงมูลค่าด้วยมูลค่าตามราคาทุน (ตามวิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก) หักค่าเผื่อการด้อยค่าสะสม (ถ้ามี) ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทไม่มีการตัดจำหน่ายสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลเนื่องจากมีอายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน กลุ่มบริษัทจะทบทวนทุกปีว่าสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลดังกล่าวยังคงมีอายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน
.

ทุกวันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน กลุ่มบริษัทจะทำการประเมินการด้อยค่าของสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัล โดยจะบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าเมื่อมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลสูงกว่ามูลค่ายุติธรรม ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน ซึ่งมูลค่ายุติธรรมวัดจากราคาปิด ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงานจาก CoinMarketCap”
.

อย่างไรก็ดีด้วย Business Model ของ JTS ที่ได้ระบุไว้ว่า “Bitcoin ที่ขุดได้จะนำมาจำหน่ายบางส่วนและเก็บไว้บางส่วน” ดังนั้นเมื่อถึงวันที่จำหน่าย Bitcoin ก็จะมีวิธีการลงบัญชีตามที่ JTS ได้อธิบายไว้ คือ
.

“กลุ่มบริษัทตัดรายการสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลออกจากบัญชี เมื่อจำหน่ายสินทรัพย์หรือคาดว่าจะไม่ได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตจากการใช้หรือการจำหน่ายสินทรัพย์ รายการผลกำไรหรือขาดทุนจากการจำหน่ายสินทรัพย์จะรับรู้ในส่วนของกำไรหรือขาดทุนเมื่อกลุ่มบริษัทตัดรายการสินทรัพย์นั้นออกจากบัญชี”

หากดูงบแสดงฐานะการเงินของ JTS ก็จะเห็นรายการ “สินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัล” อยู่ในส่วนของสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน ตามที่ JTS ได้อธิบายไว้ในส่วนของนโยบายการบัญชี
.

และสำหรับหมายเหตุประกอบงบการเงินที่เกี่ยวข้องกับ “สินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัล” เราก็จะพบกับการเปิดเผย Movement ของ Bitcoin สำหรับงวด 9M/21 โดยมีรายละเอียดคือ
.

เพิ่มขึ้นระหว่างงวด 4.218 ล้านบาท ซึ่งก็มาจากรายได้จากการขุด Bitcoin ที่ได้มา 2.81824411 เหรียญบิทคอยน์ คูณด้วยมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่ได้รับเหรียญ
.

ส่วนค่าเผื่อการด้อยค่าสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลจำนวน 52,000 บาท ก็เกิดจากการวัดมูลค่ายุติธรรมแล้วมีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชี โดยเป็นไปตามนโยบายการบัญชีของ JTS ที่ระบุไว้ว่า “ทุกวันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน กลุ่มบริษัทจะทำการประเมินการด้อยค่าของสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัล โดยจะบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าเมื่อมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลสูงกว่ามูลค่ายุติธรรม ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน ซึ่งมูลค่ายุติธรรมวัดจากราคาปิด ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงานจาก CoinMarketCap”
.

ทั้งนี้ JTS ก็ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Fair Value Level ไว้ว่า “กลุ่มบริษัทวัดมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลตามราคาปิดจาก CoinMarketCap ซึ่งจัดเป็นการวัดมูลค่ายุติธรรมตามข้อมูลระดับ 2 …. ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 กลุ่มบริษัทมียอดคงเหลือของสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลดังกล่าวเป็นจำนวน 2.82 เหรียญบิทคอยน์”

การลงทุนในเครื่องขุดบิตคอยน์ของกลุ่ม JTS นั้น JTS ก็ได้ระบุว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2564 JTS ได้เข้าทำสัญญากู้เงินจากบริษัทใหญ่ (บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (“JAS”) ) เป็นวงเงินจำนวนไม่เกิน 200 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องขุดสกุลเงินดิจิทัลจำนวน 1,400 เครื่องและนำมาจำหน่ายต่อให้กับจัสเทล โดยการเบิกเงินกู้มีระยะเวลา 7 งวด ซึ่งเป็นระยะเวลาปลอดชำระหนี้เงินต้น 7 เดือน นับจากเดือนที่ JTS ได้รับเงินกู้ครั้งแรกจากบริษัทใหญ่ (ปัจจุบัน JTS ยังไม่ได้เบิกวงเงินสินเชื่อดังกล่าว) และมีกำหนดชำระคืนเงินต้นทุกสิ้นเดือนเป็นระยะเวลา 9 งวด นับจากสิ้นสุดระยะเวลาปลอดชำระหนี้เงินต้น และมีกำหนดชำระดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือนด้วยอัตราเงินกู้ยืมขั้นต่ำของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง
.

และที่น่าสนใจคือ มีการค้ำประกันเงินกู้โดยใช้ “อุปกรณ์เครื่องขุดสกุลเงินดิจิทัล” รวมถึง “สินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัล” ตามที่ JTS เปิดเผยข้อมูลไว้ว่า
.

“เงินกู้ยืมดังกล่าวค้ำประกันโดยอุปกรณ์เครื่องขุดสกุลเงินดิจิทัลจำนวน 1,400 เครื่อง รวมถึงสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลที่ได้จากอุปกรณ์ดังกล่าวของจัสเทล”
.

จะเห็นว่า นอกจากประเด็นเรื่องการบันทึกบัญชี “สินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัล” และ “อุปกรณ์เครื่องขุดสกุลเงินดิจิทัล” แล้ว หากมีการนำสินทรัพย์ดังกล่าวไปใช้ค้ำประกันเงินกู้ยืม บริษัทเองก็จะต้องมีหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการนำสินทรัพย์ไปใช้เป็นหลักประกันหนี้สิน เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ TAS 16 เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ และ TAS 38 เรื่อง สินทรัพย์ไม่มีตัวตน ด้วยเช่นกัน

หลังจากในปี 2564 ที่ JTS ได้รับการอนุมัติการจัดซื้อเครื่องขุดบิทคอยน์ จำนวน 1,400 เครื่อง และระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์อื่นๆ ที่คิดเป็นมูลค่าการลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์ 319.36 ล้านบาท แล้ว
.

JTS ก็ได้ระบุในข้อมูลการแจ้งผลการดำเนินงานประจำไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ถึงแผนงานของปี 2565 ไว้อย่างน่าสนใจว่า
.

“ในปี 2565 บริษัทฯ มีแผนจะลงทุนเพิ่มเครื่องขุดบิทคอยน์อีก 10,000 เครื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา พร้อมด้วยงานระบบ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท ตั้งเป้าเดินเครื่องขุดบิทคอยน์เต็มกำลัง โดยมีทีมวิศวกรดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยระบบที่ทันสมัยที่กลุ่มบริษัทมีความเชี่ยวชาญ โดยแผนการลงทุนนี้จะสร้างผลตอบแทนให้กับบริษัทฯ ในอนาคตอย่างยั่งยืนต่อไป”
.

จาก Case การทำธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์ของ JTS จะเห็นว่าแนวคิดหรือวิธีปฏิบัติทางการบัญชีทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัล ที่ได้อ้างอิงหลักการของมาตรฐานการบัญชี/มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับต่างๆ เช่น TAS 38 TFRS 15นั้น ก็ต้องบอกว่าเป็นการอ้างอิงตามหลักการ “เท่าที่มี” เท่านั้น เนื่องจากยังไม่มีมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Digital Assets ออกมารองรับไว้โดยเฉพาะ
.

นอกจากนี้การเกิดขึ้นของ ธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์ ก็ทำให้มีประเด็นที่ท้าทายทางการบัญชีไม่น้อยเลยทีเดียว คิดเล่นๆ ว่าหากมีสถานการณ์ที่จะต้องพิจารณาการด้อยค่าเครื่องขุดบิทคอยน์ขึ้นมาจริงๆ การหา Discounted Cash Flow เพื่อหา Value-In-Use หรือ Fair Value (Less Cost of Disposal) ของเครื่องขุดบิทคอยน์นั้น จะประมาณการรายได้ (ซึ่งก็คือ รางวัลที่บริษัทได้รับในรูป Bitcoin) ให้น่าเชื่อถือได้อย่างไร ทั้งด้านปริมาณของเหรียญที่จะได้รับ รวมไปถึงราคาของ Bitcoin ณ วันที่จะได้รับ
.

หากเราก้าวออกจากประเด็นด้านมาตรฐานการรายงานทางการเงินมาอยู่ในฐานะของนักลงทุน คำถามที่สำคัญก็คงไม่พ้นคำถาม Classic ว่า บริษัทมีมุมมองต่อธุรกิจเหมืองขุดบิทคอยน์อย่างไร มีความมั่นใจขนาดไหนว่าธุรกิจนี้จะสร้างกำไรให้กับบริษัทในระยะยาว บริษัทจะบริหารจัดการความเสี่ยงด้านรายได้ (ที่อาจมีความไม่แน่นอนทั้งปริมาณของเหรียญที่จะได้รับ รวมไปถึงราคาของ Bitcoin ณ วันที่จะได้รับ) อย่างไร เพื่อให้คุ้มกับต้นทุนต่างๆ ที่ลงไป นอกจากนี้แล้ว หากบริษัทยังคงถือบิทคอยน์ต่อไปก็จะมีความเสี่ยงจากการ “ถือ” Cryptocurrency เพิ่มเติมอีก
.

เช่นนี้แล้ว การศึกษา Business Model ความเสี่ยง รวมถึงแนวทางการบริหารความเสี่ยงของบริษัท ก็น่าจะเป็นเรื่องสำคัญที่นักลงทุนควรศึกษาเพิ่มเติมให้มีความเข้าใจในตัวบริษัทมากขึ้นครับ
.

บทความนี้ไม่ได้ชี้นำหรือให้คำแนะนำการซื้อขายหลักทรัพย์ โปรดศึกษาข้อมูลจากบริษัทอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจลงทุนครับ

==================================
📣 Accounting Analysis มี Course อบรมเก็บชั่วโมง CPD (ด้านบัญชี) แบบ E-Learning คอร์สใหม่ล่าสุด :
🔥 Cryptocurrencies and Digital Assets Accounting 101 🔥
👉 เงื่อนไขดูรายละเอียดคอร์ส -> คลิกที่นี่
==================================

พฤศจิกายน 6, 2021
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ