บจ. ไทย ลงทุนใน Bitcoin แล้ว กับเรื่องการบันทึกบัญชี

[บจ. ไทย ลงทุนใน Bitcoin แล้ว กับเรื่องการบันทึกบัญชี]

หลังจากที่แอดได้เล่าเรื่องการลงทุนใน Bitcoin ของ Tesla กับผลกระทบของงบการเงินที่เกี่ยวข้องไปในตอนก่อนหน้านี้ 2 เรื่อง คือ
1. Tesla ลงบัญชี Bitcoin อย่างไร … กับสิ่งที่ควรจะเป็น และ
2. Tesla มีกำไรจาก Bitcoin ที่ยังไม่ลงบัญชีอีกเท่าไหร่ และประเด็น Fair Value ของ Bitcoin
.
วันนี้ก็มาถึงคิวบริษัทจดทะเบียนในไทย ที่ประกาศลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วเช่นกัน
.
เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา บริษัท บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (BROOK) ได้เผยแพร่ข่าว “การเปิดเผยข้อมูลตามความสมัครใจการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล” โดยมีประเด็นหลัก คือ
.
1. ในไตรมาส 1/2564 BROOK ได้เข้าลงทุนใน Bitcoin แล้วประมาณ 6.6 ล้าน USD โดยภายใต้แผนการลงทุนฯ BROOK และบริษัทในเครืออาจเข้าลงทุนได้ถึง 1,500 ล้านบาท
.
2. กลยุทธ์ในการลงทุนตามแนวทางที่วางไว้ คือ องค์ประกอบของสินทรัพย์รวมของ BROOK และบริษัทในเครือ จะเปลี่ยนไปเป็นอยู่ในรูปของสินทรัพย์ดิจิทัลได้ถึงประมาณร้อยละ 50 !!!
.
(อ่านเนื้อหาฉบับเต็มได้ตามรูปถัดๆไป)
.
ทั้งนี้บริษัทได้แจ้งถึงความเสี่ยง รวมไปถึงการแสดงรายการในงบการเงินไว้ว่า
.
“แม้จะมีความเสี่ยงที่กล่าวถึงข้างต้นตลอดจนมีความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนในการซื้อดังกล่าว งบกำไรขาดทุนของกลุ่มฯ จะไม่แสดงข้อมููลเกินจริงเกี่ยวกับผลกำไรจากการลงทุนดังกล่าว เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวจะระบุเป็น “สินค้าคงเหลือสินทรัพย์ดิจิทัล” ซึ่งบันทึกมูลค่าด้วยราคาทุน หรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับคืน แล้วแต่่มูลค่าใดจะต่ำกว่า ด้วยนโยบายดังกล่าว งบกาไรขาดทุนของกลุ่มฯ จะแสดงกำไรของสินทรัพย์ดิจิทัลเมื่อที่มีการขายเงินลงทุน และเกิดกำไรเท่านั้น และแสดงผลขาดทุนจากการลงทุนเมื่อมีมูลค่าการลงทุนขั้นต่ำกว่าเงินลงทุน หรือ มีการขายเงินลงทุนออกไปแล้วก็ให้เกิดผลขาดทุน ด้วยนโยบายบัญชีที่มีความ Conservative งบกำไรขาดทุนของเราจะไม่แสดงผลการดำเนินงานเกินจริงเกี่ยวกับผลกำไรของกลุ่มฯ
.
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล กรุณาดูหมายเหตุประกอบงบการเงินระหว่างกาลสำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2564 ข้อที่ 7 “สินค้าคงเหลือสินทรัพย์ดิจิทัล””
.
อ่านมาถึงตรงนี้ก็จับความได้ว่า BROOK บันทึกสินทรัพย์ดิจิทัล เป็น สินค้าคงเหลือ โดยวัดมูลค่าด้วยราคาทุน หรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับคืน แล้วแต่มูลค่าใดจะต่ำกว่า … ซึ่งแตกต่างจาก Tesla ที่มองเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน (Intangible Asset) ตามที่ได้เล่าไว้ในตอนก่อนๆ นะครับ
.
เรามาดูงบการเงินของ BROOK กันต่อดีกว่าครับ ว่าได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการลงทุนใน Bitcoin ในไตรมาสนี้ไว้ว่าอย่างไรบ้าง
.
BROOK ระบุไว้ว่า ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 กลุ่มบริษัทได้ทำธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และได้กำหนดนโยบายการบัญชีที่สำคัญ เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิตัลโดยนำหลักการของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 2 เรื่อง สินค้าคงเหลือ มาประยุกต์ใช้ ดังนี้
.
สรุปนโยบายการบัญชีที่สำคัญ – สินค้าคงเหลือสินทรัพย์ดิจิทัล
กลุ่มบริษัทวัดมูลค่า สินค้าคงเหลือสินทรัพย์ดิจิทัล ด้วยราคาทุน หรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับคืน แล้วแต่มูลค่าใดจะต่ำกว่า
มูลค่าสุทธิที่จะได้รับคืนของสินค้าคงเหลือสินทรัพย์ดิจิทัล เกิดจากราคาเสนอเพื่อการแลกเปลี่ยนในตลาดที่กลุ่มบริษัทกำหนดไว้เป็นตลาดหลักสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (ระดับ 1)
.
โดยหมายเหตุประกอบงบการเงินข้อ 7. สินค้าคงเหลือสินทรัพย์ดิจิทัล ก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า
.
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 บริษัทย่อยในต่างประเทศ ได้ซื้อสินทรัพย์ดิจิทัล (บิทคอยน์) จำนวนประมาณ 122.3158 เหรียญ บิทคอยน์ เป็นจำนวนเงิน 205.75 ล้านบาท (เทียบเท่า 6.6 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ) และได้บันทึกบัญชีเป็นสินค้าคงเหลือ บริษัทย่อยมีความเป็นเจ้าของและมีอำนาจควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัล (บิทคอยน์) ของบริษัทย่อย โดยใช้บริการบริษัทหลักทรัพย์จดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกาแห่งหนึ่งเพื่อการจัดเก็บและซื้อขาย
.
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 มูลค่าที่จะได้รับคืนของสินทรัพย์ดิจิทัล (บิทคอยน์) เป็นจำนวนเงิน 7.21 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐมีกําไรจากสินทรัพย์ดิจิทัลที่ยังไม่ได้รับรู้ประมาณ 19.273 ล้านบาท (เทียบเท่าประมาณ 0.61 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ)
.
อ่านมาถึงตรงนี้ก็จะเห็นว่า แม้ว่าโดยหลักการบัญชี (ที่มีอยู่ในปัจจุบัน) บริษัทจะยังไม่สามารถบันทึกมูลค่ายุติธรรมของ Bitcoin ผ่านงบกำไรขาดทุนได้ แต่บริษัทก็พยายามที่จะเปิดเผยมูลค่ายุติธรรม (หรือมูลค่าที่จะได้รับคืน) ของ Bitcoin ให้ผู้ลงทุนได้ทราบ ซึ่งในกรณีนี้คือ มีกําไรจากสินทรัพย์ดิจิทัลที่ยังไม่ได้รับรู้ประมาณ 19.273 ล้านบาท (เช่นเดียวกับที่ Tesla ได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเลยครับ)
.
อย่างไรก็ดีด้วยความที่ BROOK บันทึก Bitcoin เป็น สินค้าคงเหลือสินทรัพย์ดิจิทัล …. ในงบกระแสเงินสดจึงได้จัดประเภทเงินสดจ่ายซื้อ Bitcoin ดังกล่าวไว้เป็น กระแสเงินสดจากกิจกรรมดำเนินงาน (Operating Activity) ซึ่งแตกต่างจาก Tesla ที่จัดประเภทกระแสเงินสดที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมดังกล่าวเป็น กระแสเงินสดจากกิจกรรมลงทุน (Investing Activity) นั่นเองครับ
.
ที่เอามาเล่าให้ฟังก็น่าจะช่วยตอกย้ำว่าประเด็นการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที การรู้เท่าทันว่าสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวมีผลกระทบต่องบการเงิน (ในปัจจุบัน) อย่างไร มีข้อจำกัดต่างๆ อย่างไร เช่น ยังไม่สามารถบันทึกบัญชีด้วยวิธีมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนได้ รวมไปถึงเราจะสามารถ “มองเห็น” มูลค่ายุติธรรม/ราคาตลาดของสินทรัพย์ดิจิทัลได้จากที่ใดในงบการเงิน ก็ล้วนเป็นองค์ความรู้ที่เรียกว่าเริ่มมีความสำคัญต่อการอ่านงบการเงินในยุคนี้แล้วหละครับ
.
ส่วนการบันทึกบัญชีที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ที่น่าจะ/ควรจะสะท้อนความเป็นจริงได้มากกว่านี้ได้หรือไม่อย่างไร ก็อาจจะต้องติดตามกันต่อไปครับ
.
เห็น BROOK ระบุประโยคที่บอกว่า “ด้วยนโยบายบัญชีที่มีความ Conservative งบกำไรขาดทุนของเราจะไม่แสดงผลการดำเนินงานเกินจริงเกี่ยวกับผลกำไรของกลุ่มฯ” นั้น ก็น่าคิดต่อไปในประเด็นหลักการบัญชีโดยภาพรวม (ไม่ได้หมายความถึงงบการเงินของ BROOK นะครับ) ว่า หากการบันทึกบัญชีเกี่ยวกับ Cryptocurrency ยังคงบันทึกด้วยความ Conservative ขนาดนี้ งบกำไรขาดทุนของบริษัทที่ถือ Cryptocurrency ก็อาจถูกมองได้ว่า ยังไม่ได้แสดงผลการดำเนินงานตามความเป็นจริงก็ได้นะครับ
.
(ประเด็นนี้ ณ เวลานี้ก็คงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ยาวๆ เลยครับ)
.
บทความนี้ไม่ได้ชี้นำหรือให้คำแนะนำการซื้อขายหลักทรัพย์ โปรดศึกษาข้อมูลจากบริษัทอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจลงทุนครับ

==================================
📣 Accounting Analysis มี Course อบรมเก็บชั่วโมง CPD (ด้านบัญชี) แบบ E-Learning คอร์สใหม่ล่าสุด :
🔥 Cryptocurrencies and Digital Assets Accounting 101 🔥
👉 เงื่อนไขดูรายละเอียดคอร์ส -> คลิกที่นี่
==================================

พฤษภาคม 11, 2021
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ