เล่าเรื่อง CENTEL เปลี่ยนนโยบายการบัญชี “ที่ดิน” : อย่างไร เพื่ออะไร และสมควรหรือไม่

[เล่าเรื่อง CENTEL เปลี่ยนนโยบายการบัญชี “ที่ดิน” : อย่างไร เพื่ออะไร และสมควรหรือไม่]

เมื่อไตรมาส 2 ปี 2564 ที่ผ่านมา CENTEL หรือ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยข้อมูลในงบการเงินว่า ได้ทบทวนและเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีในการบันทึกมูลค่าที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ สำหรับสินทรัพย์ประเภท “ที่ดิน” จากเดิมที่แสดงด้วย “วิธีราคาทุน” เป็น “ราคาที่ตีใหม่”
.
CENTEL ได้ให้เหตุผลการเปลี่ยนนโยบายการบัญชีเรื่อง “ที่ดิน” ดังกล่าว ก็เพื่อ “ให้สะท้อนมูลค่าที่เหมาะสมในปัจจุบัน”
.
เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อฐานะการเงินของ CENTEL ไม่น้อยเลยทีเดียว และผู้สอบบัญชีก็ได้ระบุเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีดังกล่าว ไว้ในรายงานการสอบทานข้อมูลทางการเงินระหว่างกาล ไตรมาส 2 ปี 2564 ในวรรคข้อมูลและเหตุการณ์ที่เน้นด้วยเช่นกัน
.
เรามาดูเรื่องราวการเปลี่ยนนโยบายการบัญชีในเรื่องที่ดินของ CENTEL ผ่านคำถาม 3 คำถามหลักๆ คือ อย่างไร เพื่ออะไร และสมควรหรือไม่ กันดีกว่าครับ

ในไตรมาส 2 ปี 2564 ที่ผ่านมา CENTEL ได้เปิดเผยข้อมูลในงบการเงินว่า ได้ทบทวนและเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีในการบันทึกมูลค่าที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ สำหรับสินทรัพย์ประเภท “ที่ดิน” จากเดิมที่แสดงด้วย “วิธีราคาทุน” เป็น “ราคาที่ตีใหม่” เพื่อให้สะท้อนมูลค่าที่เหมาะสมในปัจจุบัน
.

แม้ว่ารายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ของ CENTEL จะประกอบด้วยประเภทสินทรัพย์ย่อยๆ หลายรายการซึ่งได้แก่ ที่ดิน ส่วนปรับปรุงที่ดิน อาคารและส่วนปรับปรุงอาคาร เครื่องจักรและอุปกรณ์ เครื่องตกแต่งติดตั้งและอุปกรณ์สำนักงาน เครื่องใช้ในการดำเนินงาน ส่วนปรับปรุงสัญญาเช่า ยานพาหนะ และสินทรัพย์ระหว่างก่อสร้าง แต่การที่ CENTEL เลือกใช้นโยบายการบัญชี “วิธีการตีราคาใหม่” เฉพาะ “ที่ดิน” ได้นั้น ก็เนื่องจาก มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 (TAS 16) เรื่อง ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ได้กล่าวอย่างเป็นนัยไว้ว่า “หากกิจการเลือกตีราคาที่ดิน อาคารและอุปกรณ์รายการใดรายการหนึ่งใหม่ กิจการต้องใช้วิธีการตีราคาใหม่กับรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ทุกรายการที่จัดอยู่ในประเภทเดียวกัน” นั่นเอง
.

ตาม “วิธีการตีราคาใหม่” จะบันทึกบัญชีอย่างไร ?
.

CENTEL ได้เปิดเผยข้อมูลในงบการเงินว่า “บันทึกมูลค่าเริ่มแรกของที่ดินในราคาทุน ณ วันที่ได้สินทรัพย์มา หลังจากนั้นกลุ่มบริษัทจัดให้มีการประเมินราคาที่ดินโดยผู้ประเมินราคาอิสระและบันทึกสินทรัพย์ดังกล่าวในราคาที่ตีใหม่ ทั้งนี้กลุ่มบริษัทจัดให้มีการประเมินราคาสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นครั้งคราวเพื่อมิให้ราคาตามบัญชี ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงานแตกต่างจากมูลค่ายุติธรรมอย่างมีสาระสำคัญ”
.

และเมื่อราคาที่ดินตามราคาที่ตีใหม่มีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง ก็จะบันทึกบัญชีดังนี้
.

กรณีเพิ่มขึ้น
– รับรู้ราคาตามบัญชีของที่ดินที่เพิ่มขึ้นจากการตีราคาใหม่ใน “กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น” และรับรู้จำนวนสะสมในบัญชี “ส่วนเกินทุนจากการตีราคาที่ดิน” ในส่วนของผู้ถือหุ้น
– หากที่ดินนั้นเคยมีการตีราคาลดลงและได้รับรู้ราคาที่ลดลงในส่วนของกำไรหรือขาดทุนแล้ว ส่วนที่เพิ่มจากการตีราคาใหม่นี้จะถูกรับรู้เป็นรายได้ไม่เกินจำนวนที่เคยลดลงซึ่งรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายปีก่อนแล้ว
.

กรณีลดลง
– รับรู้ราคาตามบัญชีของที่ดินที่ลดลงจากการตีราคาใหม่ในส่วนของกำไรหรือขาดทุน
– หากที่ดินนั้นเคยมีการตีราคาเพิ่มขึ้นและยังมียอดคงค้างของบัญชี “ส่วนเกินทุนจากการตีราคาที่ดิน” อยู่ในส่วนของผู้ถือหุ้น ส่วนที่ลดลงจากการตีราคาใหม่จะถูกรับรู้ใน “กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น” ในจำนวนที่ไม่เกินยอดคงเหลือของบัญชี “ส่วนเกินทุนจากการตีราคาที่ดิน”
.

เมื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีจาก “วิธีราคาทุน” เป็น “ราคาที่ตีใหม่” จะต้องทำอย่างไร ?
.

แม้ว่าจะใช้ชื่อว่า “การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชี” แต่การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีจาก “วิธีราคาทุน” เป็น “ราคาที่ตีใหม่” ของรายการที่ดิน อาคารและอุปกรณ์นั้นมีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจาก Concept การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีตามความเข้าใจโดยทั่วไป กล่าวคือ จะต้องใช้วิธีเปลี่ยนทันทีเป็นต้นไป (ไม่ต้องปรับปรุงงบการเงินย้อนหลัง)
.

หากดูตามหลักการแล้วก็เนื่องจาก มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 8 (TAS 8 ) เรื่อง นโยบายการบัญชี การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชีและข้อผิดพลาด ระบุไว้ว่า การเริ่มนำนโยบายการบัญชีสำหรับการบันทึกมูลค่าสินทรัพย์ด้วยราคาที่ตีใหม่ตาม TAS 16 หรือ TAS 38 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีเกี่ยวกับ “การปรับมูลค่า (Revaluation)” ตาม TAS 16 หรือ TAS 38 “มากกว่าที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีตาม TAS 8”
.

ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีตาม TAS 8 มีข้อกำหนดโดยทั่วไปให้บริษัทต้องปรับงบการเงินย้อนหลัง จึงหมายความว่า การเริ่มนำนโยบายการบัญชีสำหรับการบันทึกมูลค่าสินทรัพย์ด้วยราคาที่ตีใหม่ตาม TAS 16 หรือ TAS 38 ก็ไม่ต้องปรับงบการเงินย้อนหลังนั่นเอง
.

กระทบกับ CENTEL เท่าไหร่ ?
.

CENTEL ได้เปิดเผยข้อมูลว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มีผลกระทบดังนี้
.

✅ “ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ เพิ่มขึ้น 12,013 ล้านบาท” ซึ่งมูลค่าที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวมีที่มาจากการประเมินราคาที่ดินโดยผู้ประเมินราคาอิสระโดยใช้วิธีเปรียบเทียบราคาตลาด (Market Approach) ทั้งนี้ CENTEL ได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่า หากแสดงมูลค่าที่ดินด้วยวิธีราคาทุน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ก็จะมีมูลค่าเพียง 2,336 ล้านบาทเท่านั้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือเมื่อเปลี่ยนนโยบายการบัญชีแล้ว ที่ดินมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากราคาทุนขึ้นไปอีกประมาณ 5 เท่าตัว !!!
.

12,013 ล้านบาทเยอะขนาดไหน ? … หากดูสินทรัพย์รวมของ CENTEL ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งมีจำนวนอยู่ที่ 47,682 ล้านบาท (ตัวเลขตาม“วิธีการตีราคาใหม่” สำหรับที่ดิน) ก็หมายความว่า หากแสดงที่ดินด้วยวิธีราคาทุน สินทรัพย์รวมก็น่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 35,669 ล้านบาท จึงหมายความว่า การใช้นโยบายการบัญชี “วิธีการตีราคาใหม่” สำหรับที่ดิน ทำให้สินทรัพย์รวมของ CENTEL เพิ่มสูงขึ้นถึง 34%
.

✅ “ส่วนเกินทุนจากการตีราคาที่ดิน (ในส่วนของผู้ถือหุ้น) เพิ่มขึ้น 12,013 ล้านบาท” ก็เป็นไปตามราคาที่ดินที่ตีราคาเพิ่ม ซึ่งรับรู้ในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น และรับรู้จำนวนสะสมไว้ในส่วนเกินทุนจากการตีราคาที่ดินนี้เอง
.

✅ และเมื่อตีราคาที่ดินเพิ่ม ซึ่งไม่ถือเป็นรายได้ในทางภาษี ก็ย่อมก่อให้เกิดภาษีเงินได้รอตัดบัญชี ในรูปของ “หนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี เพิ่มขึ้น 2,403 ล้านบาท” ในงบแสดงฐานะการเงิน ในขณะเดียวกันก็ต้องรับรู้ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้จำนวนเดียวกันนั้น ในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น
.

ดังนั้นกำไรจากการตีราคาที่ดิน (สุทธิจากภาษีเงินได้) ที่รับรู้ในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น จึงมียอดทั้งสิ้น = 12,013 – 2,403 หรือ 9,610 ล้านบาท ซึ่งก็คือ การเพิ่มขึ้นของส่วนของผู้ถือหุ้นนั่นเอง
.

9,610 ล้านบาทเยอะขนาดไหน … หากดูส่วนของผู้ถือหุ้นรวมของ CENTEL ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งมีจำนวนอยู่ที่ 18,980 ล้านบาท (ตัวเลขตาม“วิธีการตีราคาใหม่” สำหรับที่ดิน) ก็หมายความว่า หากแสดงที่ดินด้วยวิธีราคาทุน ส่วนของผู้ถือหุ้นรวมก็น่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 9,370 ล้านบาท จึงหมายความว่า การใช้นโยบายการบัญชี “วิธีการตีราคาใหม่” สำหรับที่ดิน ก็ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นรวมของ CENTEL เพิ่มสูงขึ้นถึง 103% หรือเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเลยทีเดียวครับ

สำหรับเหตุผลการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีในเรื่องที่ดินนั้น CENTEL ก็ได้เปิดเผยข้อมูลในงบการเงินว่า ได้ทบทวนและเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีในการบันทึกมูลค่าที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ สำหรับสินทรัพย์ประเภทที่ดิน จากเดิมที่แสดงด้วยวิธีราคาทุนเป็นราคาที่ตีใหม่ “เพื่อให้สะท้อนมูลค่าที่เหมาะสมในปัจจุบัน”
.

อย่างไรก็ดีนอกจากเหตุผลเชิงวิชาการดังกล่าวแล้ว ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมที่ทำให้ได้ “ชวนคิด” กันต่อว่า หรือประเด็นเหล่านี้ อาจจะเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีดังกล่าวหรือไม่
.

หากเราดูอัตราส่วนทางการเงินที่ CENTEL ได้เปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ตั้งแต่ Q4/2562 จนถึง Q1/2564 (ไตรมาสสุดท้ายก่อนเปลี่ยนนโยบายการบัญชีเรื่องที่ดิน) ในด้าน “ความเสี่ยงทางการเงิน” 2 ตัว ได้แก่

1. อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนผู้ถือหุ้น และ

2. อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น

ก็พบแนวโน้มดังนี้
.

✅1. อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนผู้ถือหุ้น (เท่า) สูงขึ้นมาโดยตลอด ดังนี้
Q4/2562 = 0.5
Q1/2563 = 1.6
Q2/2563 = 1.7
Q3/2563 = 1.9
Q4/2563 = 2.2
Q1/2564 = 2.3

ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนผู้ถือหุ้น มี 2 จังหวะใหญ่ๆ คือ

– การเพิ่มขึ้นจาก 0.5 เท่า ใน Q4/2562 เป็น 1.6 เท่า ใน Q1/2563 ก็เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สินสัญญาเช่าตามที่ CENTEL ได้เริ่มใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 16 (TFRS 16) เรื่อง สัญญาเช่า ใน Q1/2563

– การเพิ่มขึ้นจาก 1.6 เท่า ใน Q1/2563 เป็น 2.3 เท่า ใน Q1/2564 โดยหลักจากส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงจากผลขาดทุนสุทธิ รวมทั้งหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น
.

✅ 2. ในด้านอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น (เท่า) ก็สูงขึ้นมาโดยตลอด ดังนี้
Q4/2562 = 0.5
Q1/2563 = 0.7
Q2/2563 = 0.8
Q3/2563 = 0.9
Q4/2563 = 1.1
Q1/2564 = 1.3

ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น ก็เนื่องจากส่วนของผู้ถือหุ้นลดลงจากผลขาดทุนสุทธิ รวมทั้งหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น
.

ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น ถือว่ามีความสำคัญต่อ CENTEL ก็เนื่องจาก CENTEL มีเงื่อนไขกับสถาบันการเงินเกี่ยวกับการรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น อยู่ที่ 2.0 เท่า นั่นเอง
.

อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า เมื่อ CENTEL ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีในการบันทึกมูลค่าที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ สำหรับสินทรัพย์ประเภท “ที่ดิน” จากเดิม ที่แสดงด้วย “วิธีราคาทุน” เป็น “ราคาที่ตีใหม่” ก็ส่งผลให้บัญชีต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปตามผลกระทบที่ได้ระบุไว้ก่อนหน้า
.

ซึ่งในส่วนของผู้ถือหุ้นนั้นก็เพิ่มขึ้น 9,610 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นถึง 103% หรือเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้นรวม หากแสดงที่ดินด้วยวิธีราคาทุน
.

การเพิ่มขึ้นของส่วนของผู้ถือหุ้นดังกล่าวส่งผลกระทบเชิงบวก ต่อทั้ง อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนผู้ถือหุ้น และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น ดังนี้
.

✅ อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนผู้ถือหุ้น ลดลงจาก Q1/2564 (ก่อนเปลี่ยนนโยบายการบัญชี) ที่ 2.3 เท่า ลดลงมาเหลือ 1.2 เท่า ใน Q2/2564 (หลังเปลี่ยนนโยบายการบัญชี)
.

✅ อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น ลดลงจาก Q1/2564 (ก่อนเปลี่ยนนโยบายการบัญชี) ที่ 1.3 เท่า ลดลงมาเหลือ 0.7 เท่า ใน Q2/2564 (หลังเปลี่ยนนโยบายการบัญชี)
.

นอกจากนี้แล้ว หลักจากประกาศงบ Q2/2564 (หลังเปลี่ยนนโยบายการบัญชี) CENTEL ก็ได้ใช้ Wording ใน Presentation การรายงานผลประกอบการและฐานะการเงินต่อนักลงทุน (Opportunity Day Presentation) ด้วย Wording ใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในช่วงปีที่ผ่านมาว่า
.

✅ “FINANCIAL STRENGTH & LIQUIDITY STATUS :NO NEED FOR EQUITY INJECTION”
.

✅ “Financial Covenant : With IBD (excl. lease) / Total Equity of 0.7x at Q2/21, there are still lots of headroom when comparing with bank covenant at 2.0x”
.

ซึ่งเราจะเห็นว่าหลังจากการเพิ่มขึ้นของส่วนของผู้ถือหุ้นจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีเรื่องที่ดิน CENTEL ก็ดูกล้าที่จะ Communicate Wording ต่างๆ เพื่อให้ความมั่นใจต่อนักลงทุนของ CENTEL มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “NO NEED FOR EQUITY INJECTION” “lots of headroom” ที่เริ่มปรากฏใน Q2/2564
.

นอกจากนี้แล้ว ใน MD&A Q2/2564 CENTEL ก็ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่า “อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของธุรกิจ บริษัทฯ ได้จัดเตรียมวงเงินกู้ทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่สามารถเบิกถอนได้ประมาณ 8,300 ล้านบาท ณ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งเพียงพอสำหรับการดำเนินงานภายใต้ความผันผวนของธุรกิจถึงไตรมาส 4 ปี 2565 ในการใช้ไปเพื่อการดำเนินงานบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายสำหรับลงทุนและดอกเบี้ยจ่าย (ไม่รวมดอกเบี้ยจ่ายตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 16 เรื่อง สัญญาเช่า) รวมสุทธิเดือนละประมาณ 370 – 380 ล้านบาท ในขณะที่ธุรกิจอาหารยังคงสามารถสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน รวมถึงเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดในมือเพียงพอในการดำเนินงานและการลงทุน”
.

การประกาศจำนวนวงกู้ยืมดังกล่าว ก็เปรียบเสมือนการประกาศจำนวนสภาพคล่องที่บริษัทมีอยู่ อย่างไรก็ดีหากคิดย้อนกลับไปว่า ถ้า CENTEL ยังไม่ได้เปลี่ยนนโยบายการบัญชีในเรื่องที่ดิน กล่าวคือ ยังวัดมูลค่าที่ดินด้วยวิธีราคาทุนเหมือนใดอดีต … “CENTEL จะกล้าสื่อสารตัวเลขนี้หรือไม่”
.

ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น หากเราดูตัวเลข ณ สิ้น Q1/2564 (งบการเงินล่าสุดก่อนการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชี) เราจะพบว่า CENTEL มีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินสัญญาเช่า) ราวๆ 12,400 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้นราว 9,900 ล้านบาท ซึ่งก็จะทำให้มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น ที่ 1.3 เท่า
.

หากคิดบน Scenario อย่างง่ายกรณี CENTEL ยังไม่ได้เปลี่ยนนโยบายการบัญชีเรื่องที่ดิน และได้ใช้วงเงินกู้ตามที่ประกาศจำนวน 8,300 ล้านบาทเต็มจำนวน ในขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นเท่าเดิม เมื่อคิดจากตัวเลข ณ สิ้น Q1/2564 ก็อาจทำให้อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น ทะลุ 2.0 เท่า ซึ่งอาจก่อให้เกิดประเด็นการละเมิดเงื่อนไขกับสถาบันการเงินเกี่ยวกับการรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย (ไม่รวมหนี้สินสัญญาเช่า) ต่อส่วนผู้ถือหุ้น ซึ่งอยู่ที่ 2.0 เท่า นั่นเอง
.

สุดท้ายของประเด็นคำว่า ”เพื่ออะไร”
.

แม้ว่า CENTEL ได้เปิดเผยข้อมูลในงบการเงินสำหรับเหตุผลในการเปลี่ยนนโยบายการบัญชีเรื่องที่ดินไว้เพียง “เพื่อให้สะท้อนมูลค่าที่เหมาะสมในปัจจุบัน”
.

แต่หากเราไล่เรียงทั้งเรื่องราวและบริบทของ CENTEL แล้ว การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีเรื่องที่ดินดังกล่าว ก็ถือว่าส่งผลบวกต่อความคล่องตัว (Flexibility) ทางการเงินด้านแหล่งเงินทุนไม่น้อยเลยทีเดียว และแน่นอนว่าส่งผลต่อการลดแรงกดดันในการเพิ่มทุน (Equity Injection) ด้วยเช่นกัน … แม้ว่าทั้งหมดนี้ CENTEL จะไม่ได้เปิดเผย Intention ออกมาโดยตรงก็ตาม

เมื่อบริษัทคิดจะเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีโดยสมัครใจ โดยทั่วไปแล้ว สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้งบการเงินให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจมากขึ้นหรือไม่
.

สำหรับนโยบายการบัญชีในเรื่องที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ แม้ว่า TAS 16 จะให้ทางเลือกกับกิจการในการเลือกนโยบายการบัญชีสำหรับการวัดมูลค่าภายหลังการรับรู้รายการใน 2 รูปแบบ คือ
– วิธีราคาทุน (Cost Model) และ
– วิธีการตีราคาใหม่ (Revaluation Model)
.

ซึ่งแน่นอนว่ากิจการก็สามารถเปลี่ยนนโยบายการบัญชีสำหรับการวัดมูลค่าภายหลังการรับรู้รายการได้เช่นกัน เช่น

– เปลี่ยนจากวิธีราคาทุน (Cost Model) เป็นวิธีการตีราคาใหม่ (Revaluation Model) หรือ

– เปลี่ยนจากวิธีการตีราคาใหม่ (Revaluation Model) เป็นวิธีราคาทุน (Cost Model)
.

อย่างไรก็ดี มีบางแนวคิดมองว่า กรณีที่กิจการเปลี่ยนนโยบายการบัญชี “มากกว่า 1 ครั้ง” (เช่น เปลี่ยนจาก Cost Model เป็น Revaluation Model แล้วก็เปลี่ยนกลับมาเป็น Cost Model อีก) อาจทำให้เกิดข้อสงสัยว่ากิจการได้ทำตามเงื่อนไขการเปลี่ยนนโยบายการบัญชีโดยสมัครใจ จริงๆ หรือไม่ ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้งบการเงินให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจมากขึ้น
.

พูดง่ายๆ คือ กรณีที่กิจการเปลี่ยนนโยบายการบัญชีมากกว่า 1 ครั้ง ก็อาจมีคำถามตามมาว่า เปลี่ยนไปแล้ว แล้วทำไมถึงเปลี่ยนกลับ
.

กลับมาที่ CENTEL ครับ
.

หากท่านใดเป็นแฟนหุ้นแฟนงบ CENTEL มาสักพัก ก็อาจจะพอทราบว่า จริงๆ แล้ว CENTEL ได้เคยใช้นโยบายการบัญชีสำหรับที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ด้วยวิธีการตีราคาใหม่ (Revaluation Model) มาจนถึงงบการเงินปี 2557 กับ PPE ในหลาย Class ไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน ส่วนปรับปรุงที่ดิน อาคารและส่วนปรับปรุงอาคาร และอุปกรณ์
.

ต่อมาในปี 2558 CENTEL ก็ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีสำหรับที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ดังกล่าวจาก Revaluation Model กลับมาเป็น Cost Model โดยให้เหตุผลว่า “ผู้บริหารเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีนี้จะทำให้งบการเงินของกลุ่มบริษัทให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจมากขึ้น และสามารถเปรียบเทียบได้กับกิจการอื่นที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน”
.

การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีในปี 2558 จาก Revaluation Model เป็น Cost Model ทำให้ PPE ของ CENTEL ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2557 ลดลง 3,750 ล้านบาท จาก 22,760 ล้านบาท (มูลค่าตาม Revaluation Model) มาอยู่ที่ 19,010 ล้านบาท (มูลค่าตาม Cost Model) หรือลดลง 16%
.

หากเรา Focus ที่ Asset Class ประเภท “ที่ดิน” ก็จะพบว่า ลดลง 3,040 ล้านบาท จาก 5,451 ล้านบาท (มูลค่าตาม Revaluation Model) มาอยู่ที่ 2,411 ล้านบาท (มูลค่าตาม Cost Model) หรือลดลง 56%
.

และสุดท้าย ล่าสุดใน Q2/2564 ที่ผ่านมา CENTEL ก็ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีในการบันทึกมูลค่าที่ดิน อาคารและอุปกรณ์อีกครั้ง สำหรับสินทรัพย์ประเภท “ที่ดิน” จาก Cost Model เป็น Revaluation Model โดยให้เหตุไว้ว่า “เพื่อให้สะท้อนมูลค่าที่เหมาะสมในปัจจุบัน”
.

การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีจาก Cost Model เป็น Revaluation Model ในรอบหลังสุดนี้ทำให้มูลค่าที่ดิน เพิ่มขึ้นถึง 12,013 ล้านบาท ทั้งนี้ CENTEL ได้เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่า หากแสดงมูลค่าของที่ดินด้วยวิธีราคาทุน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ก็จะมีมูลค่าเพียง 2,336 ล้านบาทเท่านั้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือเมื่อเปลี่ยนนโยบายการบัญชีแล้ว ที่ดินมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากราคาทุนขึ้นไปอีกประมาณ 5 เท่าตัว
.

หากเราดูเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีสำหรับที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ของ CENTEL ก็อาจมีคำถามในใจว่า “สมควรหรือไม่” อย่างน้อย 2 มุมมอง คือ
.

✅ 1. “สมควรหรือไม่” ในเชิงหลักการ : การเปลี่ยนนโยบายการบัญชี “มากกว่า 1 ครั้ง” (กรณีนี้คือ เปลี่ยนจาก Revaluation Model เป็น Cost Model แล้วก็เปลี่ยนกลับเป็น Revaluation Model อีก) ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่ากิจการได้ทำตามเงื่อนไขการเปลี่ยนนโยบายการบัญชีโดยสมัครใจ จริงๆ หรือไม่ (ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้งบการเงินให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจมากขึ้น) … คำถามง่ายๆ คือ เปลี่ยนไปแล้ว แล้วทำไมถึงเปลี่ยนกลับ

– ปี 2558 เปลี่ยนจาก Revaluation Model เป็น Cost Model ให้เหตุผลว่า : ทำให้งบการเงินของกลุ่มบริษัทให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจมากขึ้น และสามารถเปรียบเทียบได้กับกิจการอื่นที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน

– ปี 2564 เปลี่ยนจาก Cost Model เป็น Revaluation Model ให้เหตุผลว่า : เพื่อให้สะท้อนมูลค่าที่เหมาะสมในปัจจุบัน
.

ต่อคำถามว่า “สมควรหรือไม่” ในเชิงหลักการ หากเรามอง “ภาพล่าสุด” ของมูลค่าที่ดินในงบ CENTEL ที่แสดงด้วยมูลค่าที่ตีใหม่ ก็อาจมีเหตุผลที่สนับสนุน (ที่คนนอกเห็นได้อย่างชัดเจนอยู่ประการหนึ่ง) คือ การใช้นโยบายการบัญชี Revaluation Model สำหรับที่ดินนั้นทำให้งบการเงินให้ข้อมูลที่ “เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ” มากขึ้น (ที่ดินราคาทุน 2,336 ล้านบาท เมื่อตีราคาใหม่แล้ว มูลค่าตามงบการเงินเพิ่มขึ้นอีก 12,013 ล้านบาท) หรือคิดในทางกลับกันว่า หาก CENTEL ยังคงแสดงราคาที่ดินที่ราคาทุน ก็อาจทำให้ผู้ใช้งบการเงินประเมินมูลค่าสินทรัพย์ที่กิจการถืออยู่ต่ำกว่าความเป็นจริงไปอย่างมากก็เป็นได้
.

นอกจากนี้แล้ว บริบท (Context) ความแตกต่างระหว่างมูลค่าตามบัญชีตาม Cost Model กับ Revaluation Model ของที่ดินก็มีความแตกต่างกันอย่างมาก ระหว่างปลายปี 2557 กับช่วงกลางปี 2564 กล่าวคือ

– 31 ธ.ค. 2557 : มูลค่าตามบัญชีตาม Cost Model = 2,411 ล้านบาท , มูลค่าตาม Revaluation Model มากกว่า Cost Model = 3,040 ล้านบาท

– 30 มิ.ย. 2564 : มูลค่าตามบัญชีตาม Cost Model = 2,336 ล้านบาท , มูลค่าตาม Revaluation Model มากกว่า Cost Model = 12,013 ล้านบาท
.

แน่นอนว่า “ความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ” ของมูลค่าตามบัญชีตาม Revaluation Model ของที่ดิน (เมื่อเทียบกับ Cost Model) ย่อมมีความแตกต่างกันอย่างมาก ระหว่างบริบท ณ สิ้นปี 2557 กับกลางปี 2564
.

และนี่ก็อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ “ช่วยในการพิสูจน์” ถึงการได้ทำตามเงื่อนไขการเปลี่ยนนโยบายการบัญชีโดยสมัครใจในครั้งหลังสุดนั่นเอง (ซึ่งแอดเชื่อว่าตัวบริษัทก็คงมีเหตุผลในรายละเอียด Support เป็นการภายในไว้อยู่เช่นกัน)
.

✅ 2. นอกจากคำถาม “สมควรหรือไม่” ในเชิงหลักการแล้ว ยังมีมุมมอง “ด้านการบริหารจัดการ” อีก ว่าสมควรหรือไม่ที่บริษัทจะใช้นโยบายการบัญชี Revaluation Model สำหรับที่ดินในช่วงเวลาเช่นนี้ แม้ว่าแอดจะไม่ตอบฟันธงอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่เห็นคือการใช้นโยบายการบัญชี Revaluation Model สำหรับที่ดินนั้นส่งผลเชิงบวกต่อความคล่องตัว (Flexibility) ทางการเงินด้านแหล่งเงินทุน รวมถึงการลดแรงกดดันในการเพิ่มทุน (Equity Injection) ไปไม่น้อยเลยทีเดียว
.

Case CENTEL ในประเด็นการเลือกใช้นโยบายการบัญชีที่ดินที่ได้เล่ามาทั้งหมด ถือเป็นตัวอย่างการเลือกใช้นโยบายการบัญชีที่น่าสนใจเลยทีเดียวครับ กล่าวคือ มีประเด็นที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีมากกว่า 1 ครั้งดังกล่าว เข้าเงื่อนไขการเปลี่ยนนโยบายการบัญชีโดยสมัครใจหรือไม่ รวมไปถึงผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชี ที่อาจมีส่วนสำคัญต่อการดำรงอยู่ของบริษัท ซึ่งสุดท้ายของ Case นี้ก็ได้ส่งผลเชิงบวกต่อความคล่องตัว (Flexibility) ทางการเงินด้านแหล่งเงินทุน รวมถึงการลดแรงกดดันในการเพิ่มทุน (Equity Injection) ด้วยเช่นกัน
.

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเลือกใช้นโยบายการบัญชีนั้น ถือเป็นทั้ง “ศาสตร์” และ ”ศิลป์” เลยครับ
.

Raw Data : งบการเงิน, รายงานประจำปี, MD&A, Opportunity day Presentation ปี 2557,2558, รายไตรมาส 1-4/2563, ไตรมาส 1-2/2564
.

บทความนี้ไม่ได้ชี้นำหรือให้คำแนะนำการซื้อขายหลักทรัพย์ โปรดศึกษาข้อมูลจากบริษัทอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจลงทุนครับ

ตุลาคม 9, 2021
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ