เปรียบเทียบ ข้อผ่อนปรนทางบัญชีฯ COVID-19 เรื่อง Lease (ด้านผู้เช่า) : TFRS vs IFRS

[เปรียบเทียบ ข้อผ่อนปรนทางบัญชีฯ COVID-19 เรื่อง Lease (ด้านผู้เช่า) : TFRS vs IFRS]

สถานการณ์ COVID-19 ทำให้เกิดความไม่แน่นอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งประมาณการต่าง ๆ ทางบัญชี ทำให้หน่วยงานกำกับดูแล ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศต่างก็ออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนในการวัดมูลค่ารายการต่าง ๆ ในงบการเงิน

สำหรับประเทศไทย สภาวิชาชีพบัญชี ฯ ได้ออกประกาศสภาวิชาชีพบัญชี ที่ 16/2563 เรื่อง แนวปฏิบัติทางการบัญชี เรื่อง มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2563 เป็นต้นมา โดยมีรายละเอียดการผ่อนปรนการวัดมูลค่ารายการทางบัญชีในหลายประเด็นซึ่งรวมถึงเรื่องสัญญาเช่า(ด้านผู้เช่า) กรณีที่ได้รับการลดค่าเช่า

ในขณะที่คณะกรรมการกำหมดมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ หรือ IASB ก็ได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดของ IFRS 16 – Leases โดยเพิ่มเติมในประเด็น Covid-19-Related Rent Concessions (การลดค่าเช่าอันเนื่องจาก COVID-19) ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นการผ่อนปรนในทางปฏิบัติ (Practical Expedient) ด้วยเช่นกัน

ความเหมือนที่สำคัญของข้อผ่อนปรนในเรื่องสัญญาเช่าของประเทศไทย และ IFRS คือ

✅ ข้อผ่อนปรนดังกล่าวถือเป็นทางเลือก บริษัทจะเลือกใช้หรือไม่ก็ได้

✅ การได้รับการลดค่าเช่านั้นต้องเป็นผลมาจาก COVID-19 โดย IFRS 16 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้องเป็น “A direct consequence of the covid-19 pandemic” ในขณะที่ข้อผ่อนปรนของประเทศไทยระบุว่า “การลดค่าเช่าตามสัญญาเช่าจากผู้ให้เช่าเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19”

✅ สำหรับการลดค่าเช่าที่เข้าเงื่อนไข ก็ไม่ต้องถือเป็น Lease Modification เช่นเดียวกัน พูดง่าย ๆ ก็คือไม่ต้องคำนวณหนี้สินตามสัญญาเช่าใหม่ด้วยเงื่อนไขที่วุ่นวาย

อย่างไรก็ดีมีความแตกต่างของข้อผ่อนปรนในหลายประเด็นที่สำคัญ เช่น

✅ การใช้ข้อผ่อนปรนของประเทศไทยจะต้องใช้กับทุกสัญญาที่ได้รับการลดค่าเช่า ในขณะที่ IFRS 16 สามารถใช้เฉพาะกับกลุ่มสัญญาเช่าที่มีลักษณะและสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันได้ (ไม่จำเป็นต้องใช้กับทุกสัญญาเช่าที่เข้าเงื่อนไข)

✅ ช่วงระยะเวลาที่สามารถใช้ข้อผ่อนปรนของประเทศไทย สามารถใช้ได้ในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ในขณะที่ IFRS 16 สามารถใช้ได้กับการลดค่าเช่าของค่าเช่าที่มีกำหนดชำระตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ถึงภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 แต่ข้อกำหนดของ IFRS 16 จะมีความซับซ้อนต่อการเข้าใจอยู่หน่อยนึงนะครับ เนื่องจากการลดค่าเช่านั้นจะต้องเป็น Period การจ่ายชำระภายใน 30 มิถุนายน 2564 เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทได้รับการลดค่าเช่าในช่วง 1 มิถุนายน 2563 – 31 กรกฎาคม 2564 การลดค่าเช่า “ทั้งหมด” นั้นไม่ถือว่าเข้าเงื่อนไขนะครับ เพราะ Period End ที่ได้รับการ “ลด” นั้นเกิน 30 มิถุนายน 2564 ไปแล้ว (และไม่สามารถใช้ข้อผ่อนปรนเฉพาะช่วง 1 มิถุนายน 2563 – 30 มิถุนายน 2564 อีกด้วยนะ) แต่ถ้าเปลี่ยนใหม่ครับ เป็นว่าได้รับการ “ลด” ค่าเช่าในช่วง 1 มิถุนายน 2563 – 31 มกราคม 2564 (8 เดือน) แต่ไปเพิ่มค่าเช่าในช่วง กุมภาพันธ์ – กันยายน 2564 แทน แบบนี้ยังเข้าเงื่อนไขข้อนี้อยู่ เพราะ การ “ลด” นั้นลดถึง 31 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 นั่นเอง

✅ ผลกระทบต่องบกำไรขาดทุนในด้าน Timing จะเห็นว่าของประเทศไทยนั้นจะรับรู้การลดค่าเช่า “ตามงวด” ที่ค่าเช่าลดลง (พูดง่ายคือต้องรอเวลาถึงเดือนที่ค่าเช่าลดลงมาถึง จึงจะรับรู้รายได้จากการลดค่าเช่านั้นได้) ในขณะที่ IFRS 16 จะถือว่าได้รับรายได้จากการลดค่าเช่าเมื่อบริษัท “มีสิทธิ” ที่จะได้รับการลดค่าเช่าทันที

✅ นอกจากนี้ผลกระทบต่องบกำไรขาดทุนในด้าน Item ที่ได้รับผลกระทบก็มีความแตกต่างกัน ของประเทศไทยจะรับรู้ผ่าน 3 Items คือ 1. ค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์สิทธิการใช้ที่ลดลง 2. ต้นทุนทางการเงินที่ลดลง 3. ผลต่างในกำไรหรือขาดทุน ในขณะที่ IFRS 16 ให้มองเป็น Negative Variable Lease Payment โดยนำจำนวนดังกล่าวไปลด “ค่าเช่า” ในงบกำไรขาดทุน (แต่อาจมีกรณีอื่น ๆ อีก) ในขณะที่บริษัทยังต้องรับรู้ค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์สิทธิการใช้ และต้นทุนทางการเงินตามปกติ ไม่มีการ Reverse รายการ (ไม่เหมือนของประเทศไทยที่มีการ Reverse ค่าเสื่อมราคาและต้นทุนทางการเงินเป็นรายได้)

✅ ด้านการเปิดเผยข้อมูล ดูเหมือนว่าฝั่ง IFRS 16 จะมีข้อกำหนดที่มีความชัดเจนมากว่าที่ให้บริษัทเปิดเผยจำนวนเงินที่รับรู้ในงบกำไรขาดทุนอันเนื่องจากการใช้ข้อผ่อนปรน ในขณะที่ของประเทศไทยนั้นกำหนดเป็นภาพกว้างๆ แล้วแต่บริษัทไหนใคร่ใส่ก็ได้ ไม่ใคร่เปิดเผยข้อมูล(จำนวนเงิน)ก็ไม่ได้ถือว่าผิด ตามที่หนังสือวิเคราะห์การใช้ข้อผ่อนปรนทางบัญชี COVID-19 ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย Q1/2563 ได้สำรวจรูปแบบการเปิดเผยข้อมูลไว้

หากมองในภาพรวมแล้ว ถ้านับในมุมความเปรียบเทียบกันได้และช่วงเวลาที่สามารถใช้ข้อผ่อนปรน ก็ต้องนับว่าข้อผ่อนปรนของประเทศไทยมีความเหนือว่า เช่น จะต้องปฏิบัติกับทุกสัญญาที่ได้รับการลดค่าเช่า ไม่สามารถเลือกใช้เฉพาะกลุ่มสัญญาได้เหมือนกับ IFRS 16 รวมทั้งช่วงเวลาที่มีความชัดเจนว่าจะใช้วิธีปฏิบัติทางบัญชีนี้ได้ในปี 2563 เท่านั้น ในขณะที่ IFRS 16 ตามตัวอย่างที่ยกไป เรียกได้ว่า แค่ตีความคำว่า “สำหรับการลดค่าเช่าของค่าเช่าที่มีกำหนดชำระถึงภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564” ก็มึนแล้ว อย่างไรก็ดีในด้านการเปิดเผยข้อมูลก็ต้องยอมรับในความเฉพาะเจาะจงของ IFRS 16 ที่มีความชัดเจนที่ให้บริษัทเปิดเผย “จำนวนเงินที่รับรู้ในงบกำไรขาดทุนอันเนื่องจากการใช้ข้อผ่อนปรน”

หลังจากนี้คงต้องติดตามต่อไปว่าสำหรับ TFRS 16 (ที่โดยปกติมาตรฐานฯของไทยจะต้อง Update ตาม IFRS) นั้น จะปรับปรุงในเรื่อง Covid-19-Related Rent Concessions หรือไม่ อย่างไร ภายใต้ช่วงเวลาที่ประเทศไทยเองก็มีข้อผ่อนปรนในเรื่อง Leases ด้านผู้เช่าในแนวปฏิบัติทางการบัญชีตามประกาศสภาวิชาชีพบัญชี ที่ 16/2563 อยู่แล้ว (อันนี้คงต้องรอข่าวสารอย่างเป็นทางการจากสภาวิชาชีพบัญชีต่อไป)

นอกจากนี้ผู้ใช้งบการเงินยังคงต้องใช้ความความรู้ความเข้าใจและความระมัดระวัง (มากันครบเลย) โดยเฉพาะเมื่อต้องเปรียบเทียบฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทไทยกับบริษัทต่างประเทศเนื่องจากความแตกต่างของข้อผ่อนปรนในเรื่องเดียวกันตามที่ได้กล่าวมาทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Q2/2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ COVID-19 มีความเข้มข้นมากกว่า Q1/2563

สุดท้ายนี้หากแฟนเพจท่านใดต้องการศึกษาข้อมูลการใช้ข้อผ่อนปรน และรูปแบบการเปิดเผยข้อมูลข้อนี้ (รวมทั้งข้ออื่นๆ) ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย ซึ่งรวบรวมข้อมูลจริงกว่า 700 บริษัทในช่วง Q1/2563 ที่ผ่านมา สามารถดูรายละเอียดหนังสือตาม Link ด้านล่างได้เลยครับ

https://www.facebook.com/212447799361036/posts/626164934655985/

มิถุนายน 30, 2020
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ