EFORL ซื้อ วุฒิศักดิ์ กับ Goodwill ที่หายวับภายใน 4 ปี กับคำถามน่าคิด : หากย้อนเวลากลับไปได้ ควรจะซื้อวุฒิศักดิ์กี่บาท ?

[EFORL ซื้อ วุฒิศักดิ์ กับ Goodwill ที่หายวับภายใน 4 ปี กับคำถามน่าคิด : หากย้อนเวลากลับไปได้ ควรจะซื้อวุฒิศักดิ์กี่บาท ?]

ตามที่มีข่าวฮือฮาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าบริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด (WCIG) ได้ยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จึงทำให้บริษัทขาดรายได้จากการให้บริการอย่างสิ้นเชิง ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง จนทำให้คณะกรรมการ WCIG ตัดสินใจ ยื่นฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา

ผลกระทบดังกล่าวย่อมสะท้อนอยู่ในงบการเงินของ WCIG รวมไปถึงผู้ลงทุนในลำดับสูงสุดของ WCIG ซึ่งก็คือ บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) (EFORL)

เราค่อยๆ มาดูเรื่องราวนี้กันครับ

ในวันที่ 4 ธันวาคม 2557 EFORL เข้าซื้อธุรกิจ WCIG 100% โดยซื้อผ่านบริษัทลูกของ EFORL – บริษัท ดับบลิวซีไอ โฮลดิ้ง จำกัด (WCIH) ซึ่ง EFORL ถือหุ้นใน WCIH อยู่ที่ 60% ในเวลานั้น

ในคราวนั้น WCIH จ่ายเงินซื้อธุรกิจ WCIG ในราคา 3,674 ล้านบาท

แพงไปหรือไม่ คือคำถามที่สำคัญ หากเราย้อนไปอยู่ในเวลานั้น

จากข้อมูลที่ EFORL เปิดเผยในรายงานประจำปี 2558 ระบุว่า “ในช่วง มกราคม 2558 WCIG ได้ทำว่าจ้าง xxx ทำการประเมินมูลค่าธุรกิจของ WCIG ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 โดย xxx มีความเห็นว่ามูลค่าตลาด (Market Value) ของธุรกิจ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 มีมูลค่าประมาณ 5,400 ล้านบาท”

เมื่อดูตัวเลขแล้วก็ไม่น่าแปลกใจ ซื้อของราคา 5,400 ล้านบาท ได้มาในราคา 3,674 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี หลังจากนี้งบการเงินจะเป็นตัวเล่าเรื่องราวแล้วหละครับ

หลักจากซื้อธุรกิจในปี 2557 และบริษัทจะต้องทำ PPA (Purchase Price Allocation) ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี เพื่อประเมินว่าเงินที่จ่ายซื้อ 3,674 ล้านบาท นั้น จ่ายไปเพื่อมูลค่าของสินทรัพย์/หนี้สินรายชิ้น ชิ้นใด ราคาเท่าใดบ้าง ผลการทำ PPA ที่แล้วเสร็จในปี 2558 ก็ปรากฏออกมาว่า

🔺มูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์สุทธิของ WCIG มีมูลค่า 1,415 ล้านบาท (ก้อนนี้คือที่รู้ว่าเป็นมูลค่าของสินทรัพย์หรือหนี้สินรายการไหน)
🔺อีกส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถ Allocate ให้กับสินทรัพย์หรือหนี้สินรายการใดรายการหนึ่งโดยเฉพาะ ตามหลักการเรียกว่า ค่าความนิยม (Goodwill) ที่สูงถึง 2,259 ล้านบาท

เมื่อมาถึงจุดนี้ ผู้อ่านงบการเงินต้องเริ่มวิเคราะห์มากขึ้นแล้วนะครับ เพราะมูลค่าของ Goodwill ส่วนใหญ่ มาจากการ Valuation ธุรกิจในอนาคตล้วนๆ แบบไม่มี Specific Assets ตัวใดมารองรับ “โดยตรง” มูลค่าขึ้นอยู่กับ Assumption ต่างๆ ที่ฝ่ายบริหารใส่ลงไป หากในอนาคตธุรกิจไม่เป็นไปตาม Assumption เมื่อใด ย่อมกระทบต่อมูลค่า Goodwill ทันทีผ่านกระบวนการการด้อยค่า (Impairment) และที่สำคัญคือเมื่อด้อยค่าแล้ว จะ Reverse กลับเป็นรายได้ในภายหลังไม่ได้ แม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นแล้วก็ตาม

และหากเราลองพิจารณาในองค์ประกอบแรก “มูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์สุทธิของ WCIG มีมูลค่า 1,415 ล้านบาท” ก็จะพบสินทรัพย์ “ไม่มีตัวตน” รายการที่มีสาระสำคัญมากๆ ใน WCIG ซึ่งก็คือ Trademark 1,506 ลบ. และสิทธิการขยายกิจการฯ 524 ลบ.

🔵สำหรับ Trademark หรือ เครื่องหมายการค้า “วุฒิศักดิ์” (Wuttisak) ซึ่งประเมินมูลค่าเครื่องหมายการค้าด้วยวิธี Royalty Saving หรือ Royalty Relief โดยใช้ Royalty Rate ซึ่งถือเป็นสัดส่วนค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายเพื่อใช้เครื่องหมายการค้า ในกรณีที่บริษัท ไม่ได้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น ๆ และต้องได้รับอนุญาตเพื่อใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจากบุคคลอื่น โดย Assumption ที่สำคัญคือ ประมาณการกระแสรายได้ของ WCIG สำหรับปี 2557-2561 โดยคาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.73 ร้อยละ 10.02 และร้อยละ 10.02 ต่อปี ตามลำดับ [จำตัวเลขนี้ไว้หน่อยนะครับ]

🔵สำหรับ สิทธิการขยายกิจการในต่างประเทศ หรือ โอกาสในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ (International Expansion Opportunities) พิจารณาตามสัญญาแฟรนไชส์และแผนธุรกิจของ WCIG (ตามแผนธุรกิจปี 2557 ของ WCIG) มีข้อตกลงตามสัญญาแฟรนไชส์ ซึ่งผู้ได้รับสัญญาจะต้องเปิดสาขาแฟรนไชส์เพิ่มอีก 5 สาขา และ WCIG มีแผนที่จะขยายธุรกิจแฟรนไชส์ไปในประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยมูลค่าดังกล่าวพิจารณาจากเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศ ตามที่ระบุในข้อตกลงตามสัญญาแฟรนไชส์ รวมถึงโอกาสในการขยายธุรกิจต่างประเทศในอนาคต ประเมินมูลค่าโดยใช้วิธี Income Approach-Multiperiod Excess Earnings Methods (MPEEM) ซึ่ง มี Assumption ว่ารายได้จากธุรกิจแฟรนไชส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี [อันนี้จำเฉพาะว่ามีการคาดหวังไว้ว่าจะมีการขยายกิจการในอนาคต]

กลายเป็นว่า หากเราลองคำนวณกันเร็วๆ มูลค่าของสินทรัพย์ที่ขึ้นอยู่กับ Performance ในอนาคตล้วนๆ (ว่าจะตรงกับ Assumption ที่ประเมินหรือไม่) ก็คือ Goodwill + Trademark + สิทธิการขยายกิจการ = 2,259 + 1,506 + 524 = 4,289 ล้านบาท … เห็นหรือยังครับ ค่าซื้อธุรกิจส่วนใหญ่ของ Deal นี้หมดไปกับการซื้อ “อนาคต” … หากดีก็รอดไป หากไม่เป็นไปตามที่คาด ก็มีผลกระทบทั้ง Performance จากการขายที่ลดลง รวมไปถึง Impairment จากสินทรัพย์เหล่านี้ด้วยนะครับ

สิ่งที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ หากซื้อ WCIG แบบไม่มี Goodwill + Trademark + สิทธิการขยายกิจการ อาจเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า คนขายกลับกลายเป็นจะต้อง “จ่ายเงินให้คนซื้อ” แทนหรือไม่ เพราะหากเอามูลค่าสินทรัพย์ที่อิงอนาคต 3 ตัวนี้ออก มูลค่า Deal จะหายไป 4,289 ล้านบาท ในขณะที่ราคาซึ่ง WCIH จ่ายซื้อ เป็นจำนวนเงินเพียง 3,674 ล้านบาทเท่านั้น

หลังจากการซื้อธุรกิจเสร็จในปี 2557 และทำ PPA เสร็จสิ้นในปี 2558 บริษัทก็ได้เริ่มเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจอยู่ 2 อย่างในรายงานประจำปี 2558

1⃣ เรื่องที่หนึ่งบริษัทเริ่มเปิดเผย “ความเสี่ยง” หนึ่งในนั้นคือ “ความเสี่ยงจากมาตรฐานการบัญชี เรื่อง การด้อยค่าของสินทรัพย์” เนื่องจากบริษัททราบดีว่า การมี Goodwill และ Intangible Assets ที่ได้มาจากการซื้อธุรกิจเป็นจำนวนมากในงบการเงิน หากสถานการณ์ไม่เป็นไปตาม Assumption ณ วันที่ซื้อ บริษัทอาจมีความเสี่ยงที่จะต้องรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่า

หากเทียบให้เห็นง่ายๆว่า Risk Exposure นี้ใหญ่ขนาดไหน ก็ต้องบอกว่าสินทรัพย์รวมของ EFORL ณ 31 ธันวาคม 2557 (หลังจากซื้อ WCIH) = 7,363 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่า Goodwill + Trademark + สิทธิการขยายกิจการ = 4,289 ล้านบาท หรือแปลได้ว่ามูลค่าสินทรัพย์กว่า 58% ในงบการเงิน ขึ้นอยู่กับผลประกอบการในอนาคตว่าจะ Meet Assumption หรือไม่

2⃣ เรื่องที่สองที่บริษัทได้เปิดเผย คือ อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจเสริมความงาม ที่ลดลงจาก 36% ในปี 2557 เหลือเพียง 23% ในปี 2558

แต่โชคดีครับ ปี 2557 – 2558 ไม่มี Impairment จากสินทรัพย์เหล่านี้

📍 ในปี 2559 รายได้จากธุรกิจบริการด้านความงาม ลดลงถึง 37% จาก 2,591 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 1,642 ล้านบาทในปี 2559 (ที่แสดงให้ดูในรูปของทุกๆปีเป็นรายได้รวมทั้งหมดของบริษัทนะครับ ซึ่งจะมีรายได้จาก Segment อื่นๆอีก) นอกจากนี้อัตรากำไรขั้นต้นก็ลดลงจาก 23% ในปี 2558 กลายเป็นติดลบ 3% ในปี 2559 ซึ่งเกิดจาก “ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จำนวนคู่แข่งขันที่มากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงมีการแข่งขัน จากสินค้านำเข้าที่ไม่ถูกต้องที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อเน้นการแข็งขันในด้านราคา”

จากสถานการณ์ที่ว่าจึงทำให้บริษัทต้องรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่า Goodwill สูงถึง 838 ล้านบาทในปี 2559

เรียกว่าเพิ่งทำ PPA เสร็จไปปีแรก ก็โดน Impair Goodwill ซะแล้ว

📍 ในปี 2560 รายได้จากธุรกิจบริการด้านความงาม ลดลงถึง 58% จาก 1,642 ล้านบาทในปี 2559 เหลือเพียง 691 ล้านบาทในปี 2560 นอกจากนี้อัตรากำไรขั้นต้นก็ลดลงจาก ติดลบ 3% ในปี 2559 กลายเป็น ติดลบ 26% ในปี 2560 ซึ่งเกิดจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม เกิดสงครามราคา ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปพึ่งศัลยกรรมมากขึ้น จึงทำให้บริษัทต้องรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่า Goodwill สูงถึง 1,335 ล้านบาทในปี 2560

นอกจากนี้ในปี 2560 บริษัทยังต้องรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าสิทธิการขยายกิจการในต่างประเทศ 524 ล้านบาท (ด้อยค่าเต็มจำนวน) เนื่องจาก “ผู้บริหารพิจารณาว่ายังไม่มีแผนการขยายกิจการในต่างประเทศในอนาคตอันใกล้” มาถึงตรงนี้จำได้ไหมครับว่า ณ วันแรกที่บริษัทได้วัดมูลค่าสิทธิการขยายกิจการฯ นั้น บริษัท “คาดว่าจะมีการขยายกิจการ” และมี Assumption ว่ารายได้จากธุรกิจแฟรนไชส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปีด้วยซ้ำ ดังนั้นเมื่อไม่มีแผนการขยายกิจการเสียแล้ว มูลค่าที่ “เคยคิดว่าจะมี” ย่อมหายไป

📍 ในปี 2561 รายได้จากธุรกิจบริการด้านความงาม ลดลงถึง 66% จาก 691 ล้านบาทในปี 2560 เหลือเพียง 232 ล้านบาทในปี 2561 อย่างไรก็ดีอัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้นจาก ติดลบ 26% ในปี 2560 กลายเป็น ติดลบ 10% ในปี 2561 อย่างไรก็ดีเนื่องจากสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรง บริษัทมีผลการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่อง ประกอบกับแผนธุรกิจรูปแบบใหม่ยังไม่ส่งผลให้เห็นภาพชัดเจนเพียงพอ บริษัทจึงรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่า Goodwill อีก 86 ล้านบาทในปี 2561 (ถึงตอนนี้คือ Goodwill เหลือ 0 แล้วครับ ภายใน 4 ปีเท่านั้น)

เมื่อ Goodwill เหลือ 0 แต่ “มูลค่าของธุรกิจ” น้อยกว่าสิ่งที่บันทึกอยู่ในบัญชี ย่อมต้องทำให้ต้องพิจารณาด้อยค่าสินทรัพย์ชิ้นอื่นๆ ในธุรกิจนั้น ยังจำได้ไหมครับ Trademark ที่บริษัทประเมินมูลค่าไว้ตอนซื้อธุรกิจ 1,506 ล้านบาท บน Assumption ว่ารายได้ WCIG จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.73 ร้อยละ 10.02 และร้อยละ 10.02 ต่อปี ในช่วงปี 2557-2561 แต่ Fact ที่ออกมาจริงๆ คือ รายได้กลับลดลงในทุกๆปีตั้งแต่ปี 2559 เรียกว่า Fact สวนทางกับ Assumption ดังนั้นในปี 2561 บริษัทจึงต้องรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าใน Trademark จำนวน 342 ล้านบาท รวมไปถึงรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าใน Property, Plant and Equipment อีก 77 ล้านบาท

📍 และสุดท้ายในปี 2562 รายได้จากธุรกิจบริการด้านความงาม ลดลง 20% จาก 232 ล้านบาทในปี 2561 เป็น 185 ล้านบาทในปี 2562 นอกจากนี้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงจาก ติดลบ 10% ในปี 2561 กลายเป็น ติดลบ 23% ในปี 2562 จึงทำให้มูลค่าของธุรกิจลดลง และบริษัทรับรู้ขาดทุนจากการด้อยค่าใน Trademark อีก 456 ล้านบาท

มูลค่าธุรกิจ ณ สิ้นปี 2562 นี้ บริษัทเปิดเผยว่าคำนวณจากการที่บริษัทจะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างครับ มูลค่าที่เหลือที่ต้องชำระคือ 253 ล้านบาท โดยบริษัทจะจ่ายชำระด้วยหุ้น WCIH ทั้งหมด ซึ่ง ณ สิ้นปี 2562 WCIH ลงทุนใน WCIG ที่ 56% ดังนั้นมูลค่าของ WCIG 100% จึงเทียบได้ว่าเป็น 451 ล้านบาทนั่นเองครับ

มาถึงตรงนี้เห็นอะไรหลายๆอย่างนะครับ

📌 มูลค่าธุรกิจช่วงมกราคม 2558 เท่ากับ 5,400 ล้านบาท แต่สิ้นปี 2562 เหลือเพียง 451 ล้านบาท

📌 Goodwill + Trademark + สิทธิการขยายกิจการ ณ วันที่ซื้อ = 4,289 ล้านบาท แต่ภายใน 5 ปี บริษัทต้อง Impair ไปถึง 3,581 ล้านบาท (ยังไม่นับที่ Impair PPE อีก 77 ล้านบาทในปี 2561 นะครับ) เนื่องจาก Fact ที่เกิดขึ้นจริง ไม่เป็นไปตาม Assumption ตอนตั้งราคาซื้อ …. น่าคิดนะครับเมื่อเทียบกับราคาจ่ายซื้อ 3,674 ล้านบาทในปี 2557

📌นอกจากนี้ในช่วงปี 2563 จากข่าวของบริษัทที่แจ้งผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ระบุว่า “เนื่องจากธุรกิจความงามได้รับผลกระทบโดยตรงต่อมาตรการการยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 จากการปิดสถานประกอบการทั้งหมด ทำให้รายได้จากกลุ่มธุรกิจความงามลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงอาจเป็นข้อบ่งชี้ให้บริษัทต้องพิจารณาตั้งสำรองทางบัญชีในรายการทางบัญชีที่เกี่ยวข้องกับ ความสามารถในการชำระหนี้ การใช้สินทรัพย์ที่มีตัวตนและไม่มีตัวตนในกลุ่มธุรกิจความงาม เช่น ค่าเผื่อ หนี้สงสัยจะสูญ หรือ การด้อยค่าสินทรัพย์ในรายการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจความงาม”

หากย้อนเวลากลับไปได้ ควรจะซื้อวุฒิศักดิ์กี่บาท ?

📌หากมองโลกสวย ด้วย Best Available Information ที่มีอยู่ ณ วันนั้น ไม่แปลกครับ ที่จะซื้อของราคา 5,400 ล้านบาท ในราคา 3,674 ล้านบาท แต่สิ่งสำคัญในฐานะผู้ลงทุนหรือผู้ใช้งบควรต้องทราบ คือ Assumption ต่างๆ ที่บริษัทใช้ Valuation ว่าสมเหตุสมผลจริงๆ หรือไม่

📌 หากคิดเร็วๆ โดยใช้ Quantitative Information เท่าที่เห็น และ Fact ที่เกิดขึ้น … ควรได้ฟรี และอาจต้องแถมตังค์ด้วยเลยครับ จ่ายเงินซื้อ 3,674 ล้านบาท แต่ Goodwill + Trademark + สิทธิการขยายกิจการ + PPE นับตั้งแต่ ณ วันที่ซื้อ จนถึงสิ้นปี 2562 มี Impairment ไปแล้ว 3,658 ล้านบาท (ยังไม่รวมกับตัวเลขปี 2563 ตามที่บริษัทแจ้งแนวโน้มมาอีก) … แต่อย่างที่ว่าครับ หนังเกือบจบแล้ว พูดอีกก็ถูกอีก

📌 อย่างไรก็ดีการมองมุมมองแบบด้านบนอาจจะดูแย่กับธุรกิจ WCIG ไปซักนิดครับ ลองคิดใหม่ว่า หาก WCIG ถูกซื้อโดยผู้ลงทุนเจ้าอื่น ที่มีความ “FIT” “เข้าใจธุรกิจ” และ “สามารถปรับกลยุทธ์ให้ธุรกิจอยู่รอดได้” มูลค่าของบริษัทอาจจะมากกว่าที่เห็น

📌 สรุป คือ ไม่มีคำตอบตายตัวหรอกครับ คนที่อยู่ใน Environment ณ เวลานั้น ไม่มีใครรู้อนาคตเหมือนตอนที่เราอยู่วันนี้ การตัดสินใจ ณ เวลานั้น คงต้องเชื่อ Based on Best Available & Reasonable Information ที่มีอยู่ ณ วันนั้น … นี่แหละคือ Challenge ของ Valuation ครับ
เรื่องราวทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า

📌 การแข่งขันในอุตสาหกรรมเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อย่ามองว่าทุกอย่างจะเหมือนเดิม แน่นอนครับ สินทรัพย์ต่างๆ ที่วัดมูลค่าโดยใช้ Assumption ในอนาคตหนักๆ ย่อมมีผลกระทบทันทีเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ดังนั้นเมื่อบริษัท Acquire ธุรกิจ หรือแม้แต่ Assetsใดๆ โปรดดูรายละเอียดให้ดีว่าสินทรัพย์ที่ได้มา มีความ Sensitive ต่ออนาคตมากน้อยขนาดไหน

📌 มูลค่าของธุรกิจ นอกจากจะอยู่ที่ตัวธุรกิจเอง ยังขึ้นอยู่กับ “ผู้ลงทุน” ในธุรกิจด้วยว่าสุดท้ายแล้วจะสามารถนำพาธุรกิจที่เข้าไปลงทุนไปสู่เป้าหมายได้หรือไม่ เป็นที่มาที่เรามักจะได้ยินกันบ่อยๆ ในช่วงเวลาที่ทำ M&A ว่า นอกจากธุรกิจที่จะเข้าไปซื้อต้องดีแล้ว ทั้งคนซื้อและคนขายจะต้องมี Strategic Fit จึงจะทำให้ 1+1 > 2 แต่ถ้าไม่ FIT กันอาจทำให้ 1+1 < 2 ก็เป็นไปได้

📌 Goodwill ในมุมผู้ซื้อ หลายๆครั้งเป็นระเบิดเวลา อาจดูดีว่ามีสินทรัพย์เยอะๆในงบการเงิน แต่วันที่แย่ขึ้นมานี่เอาเรื่องเลยนะครับ

📌 การติดตาม Update Fact กับ Assumption ที่บริษัทได้วาดฝันไว้ตอนต้น เป็นเรื่องที่ต้องทำสม่ำเสมอ

📌 สิ่งที่สำคัญจริงๆ ของการทำ Valuation คือ Assumption ครับ ไม่ใช่การรู้สูตร รู้ Model ที่ซับซ้อน

📌 การทำ Valuation เพื่อนำมาใช้ในงบการเงิน ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ในงบการเงิน คือ บริษัทนะครับ (ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ประเมินราคา) ราคาต่างๆ Assumption ต่างๆ ที่อยู่ในงบการเงินได้ โดยหลักการ บริษัทต้อง Agree กับการใช้ Assumption & Methodology ดังกล่าวแล้ว

📌 นอกจากงบการเงินแล้ว ข้อมูล “ปัจจัยความเสี่ยงของธุรกิจ” ในรายงานประจำปี ก็อาจเป็นอีกแหล่งข้อมูลหนึ่งที่บริษัทพยายามจะบอกเรา ว่ามันมี Risk Exposure อะไรอยู่บ้าง อย่างใน Case นี้ บริษัทได้เขียนไว้ตั้งแต่ปี 2558 ก่อน Series ของ Impairment จะเริ่มขึ้นจริงในปี 2559 (แม้จะใช้ชื่อหัวข้อว่า “ความเสี่ยงจากมาตรฐานการบัญชี” … ซึ่งแอดไม่ถูกใจเอามากๆ เพราะมาตรฐานบัญชีไม่ใช่ความเสี่ยงครับ สิ่งที่เสี่ยงคือธุรกิจเองต่างหากครับ … แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่างน้อยๆ บริษัทก็เปิดเผยความเสี่ยงนี้เอาไว้)

กรกฎาคม 14, 2020
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ