GPSC ซื้อ GLOW กับเงินสดของ PTT : Consolidated vs Separate

[GPSC ซื้อ GLOW กับเงินสดของ PTT : Consolidated vs Separate]

วันหยุดสุดท้ายของช่วงหยุดยาว มาว่ากันด้วยเรื่องเบาๆ อย่าง “เงินสด” ของกลุ่ม PTT ที่เคยว่าจะเอาไปซื้อ GLOW กันดีกว่าครับ

เป็นข่าวมาเกือบ 4 เดือนนับตั้งแต่ GPSC ประกาศเข้าซื้อหุ้นบริษัทผลิตไฟฟ้าอย่าง GLOW มูลค่าดีลรวมๆ แล้วประมาณ 140,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ GPSC

การเข้าซื้อดังกล่าวจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อผ่านเงื่อนไขบังคับก่อน 2 ข้อ (Condition Precedent หรือที่เรียกกันว่า CP ครับ) คือ 1. ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ GPSC อนุมัติ (ซึ่งอนุมัติไปแล้วตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2561) 2. ได้รับอนุญาตจาก กกพ. (คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน)

แต่เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา (11 ต.ค. 2561) GPSC ได้แจ้งตลาดฯอย่างเป็นทางการว่า กกพ. (คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) มีมติ “ไม่เห็นชอบ” ด้วยกับคำขออนุญาตของ GPSC เพื่อการเข้าซื้อหุ้นของ GLOW

ในมุมนักวิเคราะห์หลายท่านเรียกว่า “จบเห่” ซะแล้วสำหรับดีลนี้ แต่หลายท่านมองว่า ดีซะอีก ค่อยๆโตตามศักยภาพ ได้ไม่ต้องกู้เงินเสียดอกมากมายนัก

แม้เรียกได้ว่า แทบจะจบแล้ว (ไม่น่าซื้อได้) แต่ระหว่างทางผมเห็นอะไรหลายๆ อย่าง ที่อยากจะหยิบยกมาพูดคุยกันครับ หนึ่งในนั้นคือเรื่อง เงินสดในการซื้อ GLOW (จากบริษัทในกลุ่ม PTT) ซึ่งบางสำนักข่าวไปเอาตัวเลขมาจับต้นชนปลายกันจนแอดอยากอธิบายให้รู้เรื่องกันดีกว่าครับ

มาเริ่มจากภาพรวมการซื้อเงินลงทุนใน GLOW (Use of Fund) และแผนของการหาเงินมาซื้อ (Source of Fund) กันก่อนครับ

แผนการซื้อ GLOW ในครั้งนี้ GPSC จะซื้อ GLOW จาก Engie Group ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ GLOW ที่ 69.11% และหลังจากนั้นจะทำ Tender Offer หรือตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นจากนักลงทุนอื่นๆในตลาดฯอีก 30.89% รวมเงินที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น ประมาณ 138,814 ล้านบาท

เมื่อหันกลับไปดูฐานะการเงินของ GPSC ในฐานะผู้ซื้อ ณ วันนี้ ก็พบว่า ณ 30 มิ.ย. 2561 GPSC มีเงินสดในมือเพียง 4,878 ล้านบาท หรือหากไปดูที่ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่ ก็พบว่ามีจำนวนเพียง 39,348 ล้านบาทเท่านั้น เรียกได้ว่าด้วยฐานะการเงิน ณ ปัจจุบัน หากไม่กู้เพิ่ม หรือไม่เพิ่มทุน ต่อให้ขายบริษัททิ้งอีก 3 รอบก็ไม่พอมาซื้อ GLOW ด้วยซ้ำ

ดังนั้นทางออกที่ GPSC ได้ออกแบบไว้ คือ ในช่วง 12 เดือนแรก จะใช้ Bridge Loan หรือเงินกู้ชั่วคราวที่จะช่วยให้ดีลนี้ลุล่วงไปได้ (คือมีเงินไปจ่ายคนขายเค้าก่อนว่างั้นเถอะ) ซึ่ง Bridge Loan นี้ GPSC ก็วางแผนไว้ว่าจะกู้จากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คือ PTTGC 8,000 ล้านบาท และ PTT อีก 27,000 ล้านบาท รวม 2 รายไม่เกิน 35,000 ล้านบาท และส่วนที่เหลืออีก 107,500 ล้านบาทจะกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

หลังจากนั้น GPSC ก็จะเปลี่ยน Bridge Loan ระยะสั้นตัวนี้ไปเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวแทน โดยการออกหุ้นกู้ 68,500 ล้านบาท และเพิ่มทุนอีก 74,000 ล้านบาท ทั้งนี้การที่ต้องเพิ่มส่วนของทุนก็เพื่อให้ Net Debt to Equity Ratio อยู่ที่ไม่เกิน 1 : 1 ซึ่งเป็นนโยบายของบริษัท ที่มองแล้วว่าอัตราส่วนประมาณนี้จะทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งทางการเงิน (ไม่งั้น D/E พุ่งกระฉูด) รวมทั้งเป็นอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกับบริษัทอื่นใน Industry เดียวกัน

ณ เวลานั้นเองตลาดก็เกิดอาการกังวลเล็กๆ เกี่ยวกับการเพิ่มทุนครับ นั่นคือผู้ถือหุ้นใน GPSC ต้องฉีดเงินเข้าไปตามแผนนี้ด้วย

หากเราดูผู้ถือหุ้นของ GPSC ก็จะเห็นว่าเป็นบริษัทในกลุ่ม PTT ถึง 75 % หมายความว่าหาก GPSC เพิ่มทุน 74,000 ล้านบาท รวมๆแล้วบริษัทในกลุ่ม PTT จะต้องใส่เงินลงไปเพิ่มทุน 55,500 ล้านบาท (74,000 x 75%)

หากแยกรายบริษัทจะได้ว่า

PTT = 16,724 ล้านบาท

PTTGC = 16,798 ล้านบาท

TOP = 21,978 ล้านบาท
(รวมสัดส่วนของ Thaioil Power ด้วย เพราะเป็น บ.ลูกของ TOP)

ซึ่งแหล่งข่าวบางแหล่งก็วิเคราะห์ถึงความเพียงพอของเงินสดในการเพื่อการเพิ่มทุน ว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่เหล่านี้จะมีเงินพอหรือไม่

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 8 ต.ค. 2561 ได้วิเคราะห์ถึงเงินสดของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ GPSC (ตามรูป) ซึ่งดูๆแล้วก็มากกว่าที่จะต้องเพิ่มทุนทั้งสิ้น

สิ่งที่ผมไปสะดุดก็คือ การวิเคราะห์ระบุว่า “เฉพาะแค่ บมจ.ปตท. เพียงรายเดียว ก็มีศักยภาพเพียงพอ จากเงินสดในมือเมื่อสิ้นงวด 6 เดือนแรก ปี 2561 อยู่ที่ 212,308 ล้านบาท” …. ชวนทำให้คิดไปไกลว่า โห ขนาด ปตท.บริษัทเดียวก็ล่อไป 2 แสนกว่าล้าน แล้วทั้ง Group ที่มีบริษัทลูกๆอีกเป็นร้อยๆบริษัท ไม่ล่อไป 5 แสนล้านหรอกหรือ และก็คิดไปต่อได้อีกว่า เพิ่มทุนห้าหมื่นกว่าล้าน แต่มีเงินสดๆ ห้าแสนล้าน แค่ 10% เท่านั้นเอง

แต่คิดไปคิดมาเลยรู้สึกว่า การเปิดงบการเงินจริงๆ คือคำตอบครับ

เมื่อเปิดงบการเงินก็พบว่า 2 แสนล้านบาทที่กรุงเทพธุรกิจพยายามจะบอกว่า “แค่เงิน ปตท. บริษัทเดียวก็เหลือเฟือ” … ไม่ใช่ซะแล้วครับ

จริงๆแล้ว 2 แสนล้านบาทที่ว่านั้น คือ เงินสดของ PTT Group (Consolidated) ไม่ใช่ของ PTT คนเดียว

2 แสนล้านบาท นั้นเกิดจากการรวมรายการ “เงินสดและรายการเทียบเท่าของสด” ของ PTT และบริษัทย่อยของ PTT อีกเป็นร้อยๆบริษัทเข้าด้วยกัน (ซึ่งรวมไปถึงเงินสดของ PTTGC และ TOP ด้วยครับ) ซึ่งหลักการนั้นเรียกว่า Line-by-line Consolidation

ส่วนเงินสดของ PTT เองจริงๆ (งบ Separate) มีเพียง 44,876 ล้านบาท (หากดู ณ 31 ธ.ค. 2560 มีเงินสดที่ 38,692 ล้านบาท)

หากเราตั้งต้นที่เงินสดของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เทียบกับเงินที่จะต้องฉีดทุนเพิ่มให้กับ GPSC จะพบว่า

PTT มีเงินสดในมือ 44,876 ล้านบาท ต้องเพิ่มทุนให้ GPSC 16,724 ล้านบาท หรือ 37% ของเงินสดในมือ (จริงๆแล้วโดนตั้งแต่ Bridge Loan 27,000 ล้านบาท ซึ่งเทียบเท่า 60% ของเงินสดในมือแล้วครับ)

PTTGC มีเงินสดในมือ 26,944 ล้านบาท ต้องเพิ่มทุนให้ GPSC 16,798 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 62% ของเงินสดในมือ

และรายสุดท้ายคือ TOP ที่มีเงินสดในมือ 34,553 ล้านบาท ต้องเพิ่มทุนให้ GPSC 21,978 ล้านบาท หรือเทียบเท่า 64% ของเงินสดในมือ

การที่อยู่ดีๆ เงินสดในมือ (ที่ Assume ว่าปกติจะต้องมีเงินราวๆนี้ไว้เพื่อการดำเนินงานปกติ) หายไปเฉลี่ยราวๆ 60% ในมุมของคนทำ Treasury (รับเงิน จ่ายเงิน Plan เงินว่าจะพอใช้ในแต่ละวัน แต่ละเดือนไหม) ถือว่าเหนื่อยเอาการระดับนึงเลยครับ ที่จะต้องหาเงินจากที่อื่นมาเพื่อรองรับการดำเนินงานตามปกติของบริษัท ในขณะที่เงินหายไปกว่า 60% (กลายเป็นว่าคนละ Mood กับที่กรุงเทพธุรกิจพยายามจะชี้เลยครับ)

สุดท้ายนี้ก็คงต้องฝากให้ระมัดระวัง หากต้องวิเคราะห์ตัวเลขของบริษัทที่มีโครงสร้างเป็นกลุ่มกิจการ เพราะตัวเลขที่หยิบมาโดยเฉพาะตัวเลขที่อยู่ในช่อง Consolidated หรือช่องงบการเงินรวมของบริษัทแม่ จะต้องคิดไว้เสมอว่าเป็นตัวเลขของทั้ง Group ไม่ใช่ของบริษัทแม่เพียงบริษัทเดียว

และแน่นอนครับ หากเอาตัวของช่อง Consolidated มาแล้ว แล้วยังจะมารวมกับของ บ.ลูกๆ อีก นั่นหมายถึงเกิดการนับซ้ำ และตัวเลขก็ย่อมสูงเกินจริงครับ

ตุลาคม 15, 2018
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ