ถือ KUB (Bitkub Coin) เพื่อเป็น Validator Node กับประเด็นในงบการเงิน (ตอนที่ 2) : ถือว่าซื้อ หรือไม่ได้ซื้อ – มุมมองที่แตกต่าง

ถือ KUB (Bitkub Coin) เพื่อเป็น Validator Node กับประเด็นในงบการเงิน (ตอนที่ 2) : ถือว่าซื้อ หรือไม่ได้ซื้อ – มุมมองที่แตกต่าง]

สำหรับตอนที่ 2 นี้เราจะมาดูบริษัทที่ลงทุนใน KUB เพื่อการเป็น Validator Node พร้อมกับได้รับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำกันต่อครับ แต่บริษัทที่จะกล่าวถึงทั้ง 3 บริษัท มีการตีความต่างจากกรณีของ PROEN ในตอนก่อนหน้าโดยสิ้นเชิง

บริษัทแรก คือ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN ซึ่งได้มีการเปิดเผยข้อมูลในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ไว้ว่า การเข้าลงทุนใน KUB นั้น เป็นการเข้าลงทุนเพื่อการเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Validator Node) แบบ Proof of Stake Authority (PoSA) มีเงื่อนไขว่า ANAN ต้องเข้าลงทุนซื้อ KUB Coin เพิ่มเติมเป็นจำนวน 225,000 KUBs ซึ่งคิดเป็นเงินลงทุนจำนวน 60.77 ล้านบาท โดยให้บริษัท เอกซ์แล็บ ดิจิทัล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เป็นผู้ลงทุนและเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Validator Node) โดยผลตอบแทนที่จะได้รับจะอยู่ในรูปแบบค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นจากการเป็น Validator Node
.

อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกับ PROEN คือ บริษัท บิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยี จำกัด ได้มีการยืนยันการรับประกันราคา (Price Guarantee) ซื้อคืนขั้นต่ำเมื่อครบกำหนด ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่าที่บริษัทลงทุน
.

นอกจากนี้ ANAN ยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า กรณีที่ราคา KUB Coin มีมูลค่าลดลงอย่างมากนั้น ไม่ส่งผลต่อฐานะทางการเงินและการดำเนินงานของบริษัทแต่อย่างใด เนื่องจากมีการยืนยันการรับประกันราคา (Price Guarantee) ซื้อคืนขั้นต่ำเมื่อครบกำหนด
.

เรามาดูงบการเงินของ ANAN กันบ้างครับ
.

งบไตรมาส 2 ปี 2565 ของ ANAN ในส่วนของหมายเหตุประกอบงบการเงิน หัวข้อ “สินทรัพย์ไม่มีตัวตน” ระบุว่า “ในระหว่างไตรมาส 2 ปี 2565 บริษัทย่อยได้ซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นจำนวน 225,000 KUB (KUB Coin) คิดเป็นเงินจำนวน 61 ล้านบาท จากข้อมูลในอดีตราคาของสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวมีความผันผวนสูงและไม่สามารถคาดการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม คู่สัญญาได้ทำข้อตกลงเพิ่มเติมเพื่อรับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำของสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาที่บริษัทย่อยได้จ่ายซื้อ
.

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 กลุ่มบริษัทมียอดคงเหลือของสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบ KUB Coin ซึ่งมีมูลค่าบัญชีตามวิธีราคาทุนสุทธิจากค่าเผื่อการด้อยค่าสะสมรวมสุทธิเป็นจำนวน 63.8 ล้านบาท (31 ธันวาคม 2564: 2.2 ล้านบาท) (เฉพาะบริษัทฯ: 2.9 ล้านบาท 31 ธันวาคม 2564: 2.2 ล้านบาท)”
.

แม้ว่า ANAN จะไม่ได้กล่าวถึงนโยบายการบัญชีสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเฉพาะเจาะจง แต่ก็พอจะตีความได้ว่า มองเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน และวัดมูลค่าภายหลังการรับรู้รายการด้วยวิธีราคาทุน (ตามนโยบายการบัญชีที่ใช้สำหรับงวดปี 2564)
.

ซึ่งประเด็นสำคัญคือ ANAN ได้รับรู้เหรียญ KUB ในงบการเงิน เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน แม้ว่าจะมีการรับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำก็ตาม
.

แล้วในช่วง Q2/2565 ที่ราคาเหรียญ KUB ลดลงอย่างมาก มีผลกระทบต่อ ANAN อย่างไร ?
.

จากข้อมูลทั้งหมดที่มีการเปิดเผย สรุปได้ว่า ANAN ซื้อ 225,000 KUB ด้วยเงิน 60.77 ล้านบาท ก็แปลความได้ว่า ราคาต่อ KUB อยู่ที่ 270 บาท/KUB ในขณะที่ราคาปิดของ KUB ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 อยู่ที่ 92.10 บาท/KUB ซึ่งหากเปรียบเทียบจะพบว่าราคา KUB ณ สิ้นไตรมาส 2 นั้นปรับตัวลดลงกว่า 66% จากราคาที่ ANAN ได้ซื้อมา
.

อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาข้อมูลยอดคงเหลือและ Movement ของสินทรัพย์ดิจิทัลตามหมายเหตุประกอบงบการเงิน กลับพบว่ามูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัล (ในงบการเงินรวม) ไม่ได้ลดลงในทิศทางที่สอดคล้องกับราคาตลาดแต่อย่างใด
.

ในงบการเงินเฉพาะกิจการ มี Net Movement ของ KUB = +0.7 ล้านบาท จากสิ้นปี 2564 (จาก 2.2 ล้านบาท เป็น 2.9 ล้านบาท)
.

ในงบการเงินรวม มี Net Movement ของ KUB +61.6 ล้านบาท จากสิ้นปี 2564 (จาก 2.2 ล้านบาท เป็น 63.8 ล้านบาท) โดยหลักใหญ่ใจความของ +61.6 ล้านบาท น่าจะเป็นส่วนของการซื้อเพิ่มของบริษัทย่อย +60.77 ล้านบาท (ตามที่มีการเปิดเผยข้อมูล) และจาก Net Movement ในส่วนของงบการเงินเฉพาะกิจการ +0.7 ล้านบาท
.

ไม่ได้มี Impairment Loss ขนาด 66% ของราคาซื้อมากมายขนาดนั้น
.

ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่ ANAN ได้ชี้แจงไว้ว่า กรณีที่ราคา KUB Coin มีมูลค่าลดลงอย่างมากนั้น ไม่ส่งผลต่อฐานะทางการเงินและการดำเนินงานของบริษัทแต่อย่างใด เนื่องจากมีการยืนยันการรับประกันราคา (Price Guarantee) ซื้อคืนขั้นต่ำเมื่อครบกำหนด
.

และแม้ว่า ANAN จะไม่ได้เปิดเผยข้อมูลนโยบายการบัญชีของสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเฉพาะเจาะจง แต่จาก Fact ทั้งหมดที่มีการเปิดเผย ก็อาจสรุปได้ว่า เหรียญ KUB ที่ ANAN ได้ซื้อมานั้น ลงบัญชีเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน แต่ไม่ได้ตี Impairment Loss (ในส่วนของเหรียญที่เข้าทำ Staking) (ในสัดส่วนเดียวกับราคาตลาดที่ลดลง) แม้ว่าราคาตลาด ณ วันสิ้นงวดจะลดลงไปกว่า 66% ของราคาที่ซื้อมา เนื่องจากมีการรับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำของสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวที่ไม่ต่ำกว่าราคาที่บริษัทย่อยได้จ่ายซื้อนั่นเอง

บริษัทถัดมา คือ บริษัท ทีวีดี โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TVDH
.

ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม และต้นเดือนมิถุนายน 2565 TVDH ได้เปิดเผยข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ในการประชุมคณะกรรมการของบริษัทฯ ได้มีมติ ให้บริษัทย่อย คือ บริษัท ทีวีดีเอ็ม จำกัด เข้าร่วมลงทุนในธุรกิจประเภทคริปโตเคอร์เรนซี (เหรียญ KUB) โดยเข้าร่วมเป็นผู้ลงทุนในโครงการ Node Validator (คือ การร่วมลงทุนในการสร้าง Chain Infrastructure เพื่อให้ Node Validator ของ Bitkub สามารถทำการตรวจสอบธุรกรรมได้) โดยคาดว่าจะเริ่มภายในเดือนมิถุนายน 2565 ในวงเงินไม่เกิน 15,000,000 บาท โดยได้รับเหรียญ KUB และค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรม
.

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2565 บริษัท TVDM ได้ลงนามทำสัญญากับบริษัท บิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยี จำกัด (BBT) และ BBT มีการรับประกันราคา หากบริษัท TVDM ขายเหรียญ KUB ภายในเวลาที่กำหนด และได้รับผลขาดทุน BBT จะชดเชยผลต่างให้แก่บริษัท TVDM
.

นอกจากนี้ TVDH ก็ได้อธิบายถึงผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินงานจากกรณีที่ราคาเหรียญมีมูลค่าลดลงอย่างมากไว้ว่า บริษัท TVDM ได้เข้าเป็นผู้ร่วมลงทุนในโครงการ Node Validator ในราคาเฉลี่ยใกล้เคียงกับราคาซื้อขาย ณ ปัจจุบันของเหรียญ KUB ในศูนย์กลางซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล อีกทั้งบริษัท TVDM และ บริษัท BBT ได้ทำสัญญาที่ BBT จะรับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำที่ไม่ต่ำกว่าราคาที่บริษัท TVDM เข้าลงทุน ดังนั้นทำให้การลงทุนไม่ได้รับผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินงานของบริษัทฯในเชิงลบแต่อย่างใด จะมีเพียงผลตอบแทนซึ่งเป็นรายได้จากการเป็นผู้ร่วมลงทุนในโครงการ Node Validator ที่จะได้รับจะมีมูลค่าผันผวนขึ้นลงตามสินทรัพย์ดิจิทัล KUB Coin ณ วันที่ได้รับผลตอบแทน
.

เรามาดูงบการเงินของ TVDH กันดีกว่าครับ
.

ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน Q2/2565 TVDH ได้อธิบายนโยบายการบัญชีใหม่ (เพิ่มเติมจากงวดปี 2564) สำหรับประเด็นสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัล ไว้ว่า
.

“กลุ่มกิจการได้พิจารณาว่าการลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลมีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนระยะยาว จึงได้นำหลักการของมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 38 เรื่อง สินทรัพย์ไม่มีตัวตน มาประยุกต์ใช้ และจัดประเภทไว้เป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
.

กลุ่มกิจการบันทึกต้นทุนเริ่มแรกของสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลตามราคาทุน ซึ่งเป็นมูลค่ายุติธรรม ณ วันที่ได้สินทรัพย์มา ภายหลังการรับรู้รายการเริ่มแรก สินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลแสดงมูลค่าด้วยมูลค่าตามราคาทุน (ตามวิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก) หักค่าเผื่อการด้อยค่าสะสม (ถ้ามี) ทั้งนี้ กลุ่มกิจการไม่มีการตัดจำหน่ายสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลเนื่องจากมีอายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน กลุ่มกิจการจะทบทวนทุกปีว่าสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลดังกล่าวยังคงมีอายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน
.

ทุกวันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน กลุ่มกิจการจะทำการประเมินการด้อยค่าของสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลโดยจะบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าเมื่อมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลสูงกว่ามูลค่ายุติธรรม ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน ซึ่งมูลค่ายุติธรรมวัดจากราคาปิด ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงานจาก www.coinmarketcap.com
.

กลุ่มกิจการตัดรายการสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลออกจากบัญชี เมื่อจำหน่ายสินทรัพย์หรือคาดว่าจะไม่ได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคตจากการใช้หรือการจำหน่ายสินทรัพย์ รายการผลกำไรหรือขาดทุนจากการจำหน่ายสินทรัพย์จะรับรู้ในส่วนของกำไรหรือขาดทุนเมื่อกลุ่มกิจการตัดรายการสินทรัพย์นั้นออกจากบัญชี
.

กลุ่มกิจการวัดมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลตามราคาปิดจาก www.coinmarketcap.com ซึ่งจัดเป็นการวัดมูลค่ายุติธรรมตามข้อมูลระดับ 1
.

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 กลุ่มกิจการมียอดคงเหลือของสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลดังกล่าวเป็นจำนวน 127,175 เหรียญ KUB
.

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 กลุ่มกิจการได้นำสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลจำนวน 125,000 เหรียญ KUB มูลค่าสุทธิตามบัญชีจำนวน 13.03 ล้านบาท เป็นหลักประกันเพื่อแลกกับการเข้าร่วมเป็นผู้ลงทุนในโครงการ Node Validator กับทางบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด โดยมีเงื่อนไขไม่ให้บริษัท ทีวีดี เอ็ม จำกัด ทำการขายและ/หรือแลกเปลี่ยนเหรียญ ดังกล่าว เป็นระยะเวลาก่อนเดือน มิถุนายน 2566 เพื่อให้บริษัท ทีวีดี เอ็ม จำกัด ได้รับสิทธิในการเข้าร่วมลงทุนเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมบนแพลตฟอร์ม Bitkub Chain แบบ PoSA ซึ่ง KUB มีการรับประกันมูลค่าของเหรียญ KUB ในช่วงระยะเวลาของการเข้าร่วมลงทุน โดยจะรับประกันมูลค่าไม่น้อยกว่ามูลค่าในวันที่บริษัทได้เหรียญ KUB มา
.

บริษัท ทีวีดี เอ็ม จำกัด จะได้รับผลตอบแทนจากการร่วมลงทุน เป็นเหรียญ KUB”
.

แล้วในช่วง Q2/2565 ที่ราคาเหรียญ KUB ลดลงอย่างมาก มีผลกระทบต่อ TVDH อย่างไร ?
.

จากข้อมูลทั้งหมดที่มีการเปิดเผย สรุปว่า TVDH ได้นำ 125,000 KUB เป็นเงิน 13.03 ล้านบาท ไป Stake ก็แปลความได้ว่า ราคาต่อ KUB ที่ TVDH ได้ซื้อจาก Bitkub อยู่ที่ 104 บาท/KUB ในขณะที่ราคาปิดของ KUB ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ในตลาด Bitkub อยู่ที่ 92.10 บาท/KUB ซึ่งหากเปรียบเทียบจะพบว่าราคา ณ สิ้นไตรมาส 2 นั้นปรับตัวลดลงกว่า 11% จากราคาซื้อ
.

อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาข้อมูลยอดคงเหลือและ Movement ของสินทรัพย์ดิจิทัลตามหมายเหตุประกอบงบการเงิน กลับพบว่ามูลค่าของสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้ลดลงในทิศทางที่สอดคล้องกับราคาตลาดแต่อย่างใด กล่าวคือยังคงยอดที่ 13.03 ล้านบาทเท่ากับตอนที่ซื้อมา
.

ซึ่งก็สอดคล้องกับสิ่งที่ TVDH ได้ชี้แจงไว้ว่า TVDM และ บริษัท BBT ได้ทำสัญญาที่ BBT จะรับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำที่ไม่ต่ำกว่าราคาที่บริษัท TVDM เข้าลงทุน ดังนั้น ทำให้การลงทุนไม่ได้รับผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินงานของบริษัทฯ ในเชิงลบแต่อย่างใด
.

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า TVDH ได้เปิดเผยข้อมูลนโยบายการบัญชีการทดสอบการด้อยค่าของสินทรัพย์ดิจิทัล ไว้ว่า “ทุกวันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน กลุ่มกิจการจะทำการประเมินการด้อยค่าของสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลโดยจะบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าเมื่อมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลสูงกว่ามูลค่ายุติธรรม ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน ซึ่งมูลค่ายุติธรรมวัดจากราคาปิด ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงานจาก www.coinmarketcap.com”
.

แต่เมื่อดู Fact กลับพบว่า ราคาปิดของ KUB ณ 30 มิถุนายน 2565 ใน Coinmarketcap อยู่ที่ 95.36 บาท/KUB ในขณะที่ราคาทุนที่ซื้อมาอยู่ที่ 104 บาท/KUB หรือลดลง 8% แต่กลับไม่พบรายการด้อยค่า KUB ในงบการเงิน
.

ดังนั้นสิ่งที่น่าตามหากันต่อ คือนโยบายการบัญชีกรณีที่มีการรับประกันมูลค่าใน KUB น่าจะเป็นอย่างไรกันแน่ (ที่แม้ว่าจะไม่ได้เปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงิน)
.

แต่จาก Fact ทั้งหมดที่มีการเปิดเผย ก็อาจสรุปได้ว่า เหรียญ KUB ที่ TVDH ได้ซื้อมานั้น ลงบัญชีเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน แต่ไม่ได้ตี Impairment Loss แม้ว่าราคาตลาด ณ วันสิ้นงวดจะลดลงไปกว่า 8% ของราคาที่ซื้อมา เนื่องจากมีการรับประกันมูลค่าไม่น้อยกว่ามูลค่าในวันที่บริษัทได้เหรียญ KUB มานั่นเอง
.

ซึ่งประเด็นสำคัญคือ TVDH ได้รับรู้เหรียญ KUB ในงบการเงิน เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน แม้ว่าจะมีการรับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำก็ตาม (เช่นเดียวกับ ANAN)

บริษัทสุดท้าย (สำหรับตอนที่ 2 นี้) คือ บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SIS
.

ในเดือนมิถุนายน 2565 SIS ได้เปิดเผยข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าได้เข้าลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (สกุลเงิน KUB Coin) กับบริษัท บิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยี จำกัด ในมูลค่าทั้งสิ้น 67,113,829.80 บาท เพื่อวัตถุประสงค์การเป็นพาร์ทเนอร์ในการเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม (validator node) ในระบบการตรวจสอบธุรกรรมบล็อกเชน (Blockchain) ของ Bitkub โดยมีเงื่อนไขคือ
.

1. Validator node ต้องการทำการถือครอง (Stake) เหรียญ KUB จำนวน 250,000 เหรียญ
.

2. ไม่ให้ SIS ทำการขายและ/หรือแลกเปลี่ยนเหรียญดังกล่าวเป็นระยะเวลา 1 ปี ก่อนวันที่ 31
พฤษภาคม 2566
.

3. เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 บริษัท บิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยี จำกัด ได้มีหนังสือแจ้งเรื่องการ
ประกันราคาการซื้อคืนขั้นต่ำเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของสัญญาในการเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมในราคา
ที่ไม่ต่ำกว่าราคาที่ SIS เข้าลงทุน
.

นอกจากนี้ SIS ก็ได้อธิบายต่อว่าบริษัท บิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยี จำกัด ได้มีการประกันราคาการซื้อคืนขั้นต่ำเมื่อสิ้นสุดสัญญาในการเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาที่ SIS เข้าลงทุน ถึงแม้ว่ามูลค่าเหรียญจะมีมูลค่าลดลงอย่างมากในปัจจุบันจึงไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินงานของ SIS
.

โดยเมื่อสิ้นสุดสัญญา ถ้าปรากฏว่าราคาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลต่ำกว่าราคา ณ วันที่บริษัทได้ลงทุนไป ทางบริษัท บิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยี จำกัด จะรับซื้อคืนที่ราคาเดิมที่ SISลงทุน มูลค่า 67,113,829.80 บาท แต่หากว่าราคาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลสูงกว่าราคาขั้นต่ำที่รับประกัน SIS สามารถขายทำกำไรตามราคาซื้อขายแลกเปลี่ยน ณ วันนั้น
.

เรามาดูงบการเงินของ SIS กันดีกว่าครับ
.

ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน Q2/2565 SIS ได้อธิบายสัญญาที่สำคัญไว้ว่า
.

“ในระหว่างงวดปัจจุบัน บริษัทฯได้ลงนามในสัญญาซื้อขายกับบริษัท บิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยี จำกัด เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทคริปโทเคอร์เรนซี่ สกุลเงิน KUB coin เป็นจำนวนเงินประมาณ 67.1 ล้านบาท เพื่อวัตถุประสงค์การเป็นพาร์ทเนอร์ในการเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรม (Node Validator) ในระบบการตรวจสอบธุรกรรมบล็อกเชน (Blockchain) บนแพลตฟอร์ม Bitkub Chain แบบ Proof of Staked Authority (PoSA) โดยบริษัทฯได้มีการชำระเงินตามสัญญาในเดือนเมษายน 2565
.

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 บริษัท บิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยี จำกัด ได้มีหนังสือแจ้งมายังบริษัทฯ เพื่อรับรองการประกันราคาการซื้อคืนเหรียญ KUB ขั้นต่ำ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของสัญญาในการเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาที่บริษัทได้เข้าลงทุนไว้
.

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 บริษัทฯ บันทึกเงินลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนในงบแสดงฐานะการเงินเป็นจำนวน 59 ล้านบาท”
.

จากข้อมูลทั้งหมดที่มีการเปิดเผยก็อาจสรุปได้ว่า SIS ลงทุนไป 250,000 KUB ด้วยเงินทุน 67.1 ล้านบาท ก็แปลความได้ว่า ราคา KUB ที่ลงทุนไป อยู่ที่ 268 บาท/KUB ในขณะที่ราคาปิดของ KUB ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 อยู่ที่ 92.10 บาท/KUB ซึ่งหากเปรียบเทียบจะพบว่าราคา ณ สิ้นไตรมาส 2 นั้นปรับตัวลดลงกว่า 66% จากราคาซื้อ
.

ในขณะที่ตัวเลขในงบการเงินกลับพบว่ามียอดขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ไม่มีตัวตน 8.1 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับส่วนต่างระหว่างเงินที่ลงทุนใน KUB จำนวน 67.1 ล้านบาท กับมูลค่าเงินลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ที่ 59 ล้านบาทนั่นเอง ซึ่งเลขขาดทุนดังกล่าวคิดเป็นเพียง 12% ของราคาซื้อเท่านั้น (แม้ว่า SIS จะได้เคยเปิดเผยไว้ว่า ถึงแม้ว่ามูลค่าเหรียญจะมีมูลค่าลดลงอย่างมากในปัจจุบัน ไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินงานของ SIS ก็ตาม)
.

หรือพูดง่ายๆ ว่าไม่ได้บันทึก Impairment Loss เท่ากับ %การเปลี่ยนแปลงของราคาตลาดที่ลดลง เพราะมีการประกันราคาการซื้อคืนขั้นต่ำเมื่อสิ้นสุดสัญญาในการเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาที่ SIS เข้าลงทุน
.

โดยสรุปสำหรับตอนที่ 2 นี้ เราจะเห็นว่า ทั้ง 3 บริษัท ซึ่งได้แก่ ANAN TVDH และ SIS ได้รับรู้เหรียญ KUB ในงบการเงินเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน แม้ว่าจะมีการรับประกันราคาซื้อคืนขั้นต่ำจาก บริษัท บิทคับ บล็อกเชน เทคโนโลยี จำกัด ในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาที่แต่ละบริษัทได้เข้าลงทุน ซึ่งก็หมายความว่าทั้ง 3 บริษัทได้ประเมินแล้วว่ามีอำนาจควบคุมใน KUB ซึ่งเป็นมุมมองที่แตกต่างจาก PROEN
.

นอกจากนี้สิ่งที่เหมือนกันอีกประการหนึ่งคือ ในยามที่ราคา KUB ปรับตัวลดลงอย่างมากจากราคาที่เข้าลงทุน ทั้ง 3 บริษัทดังกล่าวกลับไม่ได้รับรู้ Impairment Loss หรือรับรู้แต่ก็ไม่ใช่สัดส่วนเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของราคาตลาด KUB ที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับราคาที่แต่ละบริษัทเข้าลงทุน
.

แม้ว่าบางบริษัทได้เขียนนโนบายการบัญชีไว้อย่างชัดเจนว่า “จะบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าเมื่อมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์สกุลเงินดิจิทัลสูงกว่ามูลค่ายุติธรรม ณ วันสิ้นรอบระยะเวลารายงาน” ก็ตาม
.

สำหรับตอนหน้า เราจะมาดูกันว่า น่าจะมีมุมมองอะไรบ้าง ที่ทำให้ทั้ง 3 บริษัทมองต่างจากกรณีของ PROEN ครับ
.

บทความนี้ไม่ได้ชี้นำ ให้คำแนะนำ รวมถึงไม่ใช่เป็นการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ การซื้อขายหลักทรัพย์ หรือสินทรัพย์ดิจิทัล โปรดศึกษาข้อมูลจากบริษัทอย่างละเอียดก่อนการตัดสินใจลงทุนครับ

กันยายน 10, 2022
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ