เมื่อ Mark-to-market Loss นอก PL ใหญ่กว่ากำไรสำหรับงวด

[เมื่อ Mark-to-market Loss นอก PL ใหญ่กว่ากำไรสำหรับงวด]

ถ้ายังจำกันได้ ในช่วงสิ้น Q1/2563 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้น ไม่ว่าจะหุ้นทุนหรือหุ้นกู้เกิดความผันผวนอย่างหนักอันเกิดจากสถานการณ์ COVID-19 ความผันผวนนี้เองส่งผลต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของผู้ลงทุนในตราสารดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากวัดมูลค่าเงินลงทุนด้วยมูลค่ายุติธรรม

กิจการธนาคารเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของกิจการที่มีรายการเงินลงทุนที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเพื่อการลงทุนในกิจการธนาคาร หรืออาจเพราะมีบริษัทย่อยที่ดำเนินงานด้านธุรกิจประกันภัยซึ่งโดยปกติจะลงทุนในเงินลงทุนลักษณะดังกล่าวจำนวนมาก

ดังนั้น สถานการณ์ COVID-19 ย่อมส่งผลต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของธนาคารในด้านผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนด้วยเช่นกัน (หรือที่มักเรียกกันว่า Mark-to-market Gain/Loss : โดยในบทความนี้ขอเรียกว่า Mark-to-market ซึ่งรวมไปถึงการวัดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนที่ไม่ได้อยู่ในตลาด ที่โดยปกติอาจเรียกกันว่า Mark-to-model)

ตัวอย่างธนาคารใน Q1/2563 ที่แอดเห็นว่าน่าสนใจคือ BBL และ KBANK เพราะทั้งสองธนาคารต่างได้รับผลกระทบโดยตรง จากการ Mark-to-market ของเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุน (FVTPL) ในงบกำไรขาดทุน (P/L) กันไปคนละไม่น้อย (แน่นอนบริษัทย่อมชี้แจงสาเหตุในประเด็นนี้ในการรายงานผลประกอบการ) โดย

📣 BBL มีขาดทุนจาก Mark-to-market FVTPL ในงบกำไรขาดทุน 1,689 ล้านบาท จากกำไรสุทธิ (Parent+NCI) 7,761 ล้านบาท

📣 KBANK มีขาดทุนจาก Mark-to-market FVTPL ในงบกำไรขาดทุน 2,898 ล้านบาท จากกำไรสุทธิ (Parent+NCI) 5,276 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีนอกจากเงินลงทุนประเภท FVTPL แล้ว ยังมีเงินลงทุนประเภท FVTOCL หรือเงินลงทุนที่วัดมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น ที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVI-19 ด้วยเช่นกัน ซึ่งเงินลงทุน FVTOCI อาจแบ่งได้เป็นเงินลงทุนในตราสารทุน และเงินลงทุนในตราสารหนี้

สำหรับผลกระทบจากการ Mark-to-market FVTOCI แม้ว่าในวันที่ Mark จะไม่เข้างบกำไรขาดทุน (P/L) ทั้งหมดทันที แต่ต้องไม่ลืมว่า ยังไงก็มีผลต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ณ วันที่ Mark อยู่ดี

เป็นที่น่าสนใจว่าผลกระทบจากการ Mark-to-market Loss FVTOCI ของแต่ละธนาคารนั้นมีจำนวนมากกว่าตัวเลขกำไรสุทธิเสียอีก และหากพิจารณาตัวเลขจะเห็นว่า แม้ว่าจำนวนเงินลงทุนใน FVTOCI – Equity ที่มีจำนวนน้อยกว่า FVTOCI – Debt เป็นจำนวนมาก แต่ FVTOCI – Equity กลับสร้างความผันผวนต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานเป็นอย่างมาก

📣 BBL มีขาดทุนจาก Mark-to-market FVTOCI – Equity 23,517 ล้านบาท จากกำไรสุทธิ (Parent+NCI) 7,761 ล้านบาท

📣 KBANK มีขาดทุนจาก Mark-to-market FVTOCI – Equity 18,643 ล้านบาท จากกำไรสุทธิ (Parent+NCI) 5,276 ล้านบาท

ก็อาจจะสะท้อน Basic Concept ที่ว่า เงินลงทุนในตราสารทุนมีความผันผวนหรือความเสี่ยงที่มากกว่าตราสารหนี้นั่นเอง

อย่างที่บอกไปนะครับ แม้ว่าผลขาดทุนจาก Mark-to-market FVTOCI จะไม่ได้กระทบกับงบกำไรขาดทุน (P/L) ทั้งหมดในทันทีที่ Mark แต่ในฐานะผู้ลงทุน หรือผู้ใช้งบการเงินอาจต้องชำเลืองมองการเปลี่ยนแปลงสักหน่อย เพราะอย่างไรเจ้า เงินลงทุนไม่ว่าจะประเภทใด ล้วนแล้วแต่คือ “ความมั่งคั่งของผู้ลงทุน” นั่นเอง

และก็หวังว่าตัวเลขใน Q1/2563 ที่เห็น เป็นเพียงความผันผวนของตลาดเพียงชั่วคราว ที่บังเอิญรอบการปิดบัญชี Q1/2563 มาเจอกับสถานการณ์นั้นพอดีครับ

กรกฎาคม 9, 2020
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ