กิจการ NPAEs จะลงบัญชี Cryptocurrencies อย่างไร ?

[กิจการ NPAEs จะลงบัญชี Cryptocurrencies อย่างไร ?]

หลังจากที่เราได้พูดคุยเกี่ยวกับเรื่อง Cryptocurrencies กันมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงบทความล่าสุด ก็ล้วนเป็นแต่การตีความและ Case จริงในทางปฏิบัติ สำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (PAEs) โดยในส่วนของการตีความนั้นก็อ้างอิง Agenda decision on Holdings of cryptocurrencies – June 2019 ที่ออกโดย IFRS Interpretation Committee ในขณะที่ Case ที่ยกขึ้นมาก็มักจะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือพูดง่ายๆ ว่าที่เคยพูดมาทั้งหมดก็คือ มาตรฐานฯชุดใหญ่นั่นเอง
.
อย่างไรก็ดี ตามที่แอดได้เคยบอกทุกท่านไปแล้วว่าโลกของ Digital Assets นั้นอยู่ใกล้ตัวเราขึ้นทุกวัน แน่นอนว่ากิจการที่ “ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ” หรือกิจการ NPAEs ก็อาจมีการลงทุนโดยการถือ Cryptocurrencies ด้วยเช่นกัน
.
เช่นนี้แล้วกิจการ NPAEs เหล่านี้จะบันทึกบัญชี Cryptocurrencies อย่างไร ?
.
คำถามนี้อาจเป็นคำถามที่ดูง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก (หากเราคุ้นชินกับหลักการที่แอดได้เลยเล่าไปก่อนหน้า)
.
แต่เอาเข้าจริงๆ ในกระบวนการตอบคำถามข้อนี้ก็เรียกว่าทำให้เกิดความน่าฉงนสงสัยไม่น้อยว่า มันจะบันทึกบัญชีอย่างไรกันแน่
.
ความน่าสงสัยดังกล่าวก็เริ่มเป็นปัญหาเพราะเนื่องจาก หากเรามอง “ประเภทของสินทรัพย์” อย่าง Cryptocurrencies ตามที่การตีความตาม Agenda decision on Holdings of cryptocurrencies – June 2019 มอง ก็จะได้ว่า Cryptocurrencies นั้น
.
📌ถ้าไม่ถือเป็น สินค้าคงเหลือ (Inventory) ก็ต้องถือเป็น
📌 สินทรัพย์ไม่มีตัวตน (Intangible Assets)
.
และเมื่อเอามา Map กับข้อกำหนดของมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (TFRS for NPAEs) (หรือทีเรียกกันว่ามาตรฐานฯ ชุดเล็ก) ก็จะได้ว่า
.
1. กรณีที่มองเป็นสินค้าคงเหลือ (ซึ่งกิจการต้องถือ Cryptocurrencies ไว้เพื่อขายตามลักษณะการประกอบธุรกิจตามปกติของกิจการ) กิจการก็จะต้องวัดมูลค่า Cryptocurrencies ดังกล่าวด้วยราคาทุนหรือมูลค่าสุทธิที่จะได้รับแล้วแต่มูลค่าใดจะต่ำกว่า (ซึ่งก็คือหลักการ Lower of Cost or NRV ตามที่เราคุ้นชินกันเป็นอย่างดี)
.
2. อย่างไรก็ดีหากกิจการไม่ได้ถือ Cryptocurrencies ไว้เพื่อขายตามลักษณะการประกอบธุรกิจตามปกติของกิจการ หากเราตีความตาม Agenda decision on Holdings of cryptocurrencies – June 2019 ก็จะกลายเป็นว่า ก็จะต้องมอง Cryptocurrencies ดังกล่าวเป็น สินทรัพย์ไม่มีตัวตน
.
และแน่นอนว่าในทางปฏิบัติที่เรามักจะเห็นกัน ก็คือ Cryptocurrencies โดยส่วนใหญ่ มักจะเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่มีอายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน (Indefinite Useful Life)
.
อย่างไรก็ดี กรณีที่เป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนมีอายุการให้ประโยชน์ที่ไม่ทราบแน่นอนนั้น TFRS for NPAEs ได้กำหนดให้ต้องตัดจำหน่ายเท่ากับ 10 ปี
.
ซึ่งแน่นอนว่าหากต้องบันทึกบัญชีตามวิธีที่ว่านี้จริงๆ เราอาจจะได้เห็นกิจการ NPAEs ต้องตัดจำหน่าย Cryptocurrencies อย่างเช่น Bitcoin เป็นเวลา 10 ปีแน่ๆ ครับ
.
แนวการตีความดังกล่าวนั้นก็คงเรียกได้ว่า เป็นความสุดโต่งอีกฝั่งหนึ่งไปเลยทีเดียวครับ ในขณะที่โลกของมาตรฐานฯ ชุดใหญ่ก็มีแนวคิดสุดโต่ง (แบบที่ควรจะเป็น) อีกฝั่งหนึ่ง คือกระแสเรียกร้องให้พิจารณาแนวทางการวัดมูลค่า Cryptocurrencies ด้วยวิธีมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุน (FVTPL)
.
เมื่อมองในเชิงเทคนิค หากจะไม่ให้ Cryptocurrencies ต้องถูกตัดจำหน่ายภายใต้ TFRS for NPAEs กิจการก็อาจจะต้องกำหนดให้มูลค่าคงเหลือ (Residual Value) ของ Cryptocurrencies มีมูลค่าเท่ากับมูลค่าตามบัญชีไปตลอด ซึ่งกลไกลแบบนี้เองก็เคยมีการพูดถึงในเวที Comprehensive review of the IFRS for SMEs® Standard เช่นกัน
.
แต่การจะกำหนดมูลค่าคงเหลือ (Residual Value) ได้ ก็อาจจะต้องมองว่า Cryptocurrencies นั้นมีอายุการใช้ประโยชน์ที่จำกัด ซึ่งก็น่าจะค้านกับ Fact ส่วนใหญ่พอสมควร
.
ซึ่งกรณีดังกล่าวก็อาจจะเกิดความลักลั่นระหว่าง Cryptocurrencies ที่มีอายุการใช้ประโยชน์ไม่จำกัดจะต้องถูกตัดจำหน่าย 10 ปี แต่ Cryptocurrencies ที่มีอายุการใช้ประโยชน์จำกัด กลับมีแนวทางในการบันทึกบัญชีให้ไม่ต้องมีค่าตัดจำหน่ายได้
.
ที่เล่ามาทั้งหมดก็ย่อมทำให้เกิดคำถามในวงของผู้ปฏิบัติว่า หากกิจการ NPAEs ถือ Cryptocurrencies (ที่มีอายุการใช้ประโยชน์ไม่จำกัด) กิจการจะต้องตัดจำหน่าย Cryptocurrencies เป็นเวลา 10 ปีจริงๆ งั้นหรือ ? (ค้านสิ่งที่ควรจะเป็น และความรู้สึกมากทีเดียว)
.
แต่ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีทีเดียวครับ ที่ล่าสุดสภาฯ เองก็ดูไม่ได้นิ่งนอนใจกับประเด็นนี้ โดยได้ออก “คำถาม – คำตอบเกี่ยวกับการถือครองคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrencies) สำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (NPAEs)” เพื่อแก้ไขปัญหาการตีความดังกล่าว
.
กรณีที่เป็นปัญหาตามที่ได้เล่าไป คือกรณีที่กิจการที่ถือ Cryptocurrencies ไว้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น (ไม่ได้มีไว้เพื่อขายตามลักษณะการประกอบธุรกิจตามปกติของกิจการ) นั้น คำถาม – คำตอบฉบับนี้ก็ให้
.
✅✅✅ รับรู้ Cryptocurrencies เป็น “สินทรัพย์” และ วัดมูลค่าด้วย “ราคาทุนและพิจารณาการลดลงของมูลค่าสินทรัพย์” ✅✅✅
.
(ไม่มีข้อกำหนดเรื่องตัดจำหน่าย 10 ปี มาให้กวนใจ)
.
ซึ่งเหตุผลเบื้องหลังหรือที่มาของแนวคิดก็คือ Cryptocurrencies นั้นมีลักษณะพิเศษจากสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอื่น ๆ รวมทั้งหากมองเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่มีอายุการให้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอนแล้ว ก็จะต้องตัดจำหน่าย 10 ปี ซึ่งก็จะเป็นประเด็นว่าจะทำให้งบการเงินนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจและความเชื่อถือได้ที่ลดลงนั่นเองครับ
.
นอกจากนี้แล้วในคำถาม – คำตอบ ก็ยังได้เปิดช่อง (ที่ดูทันสมัยมากๆ และมักจะเห็นงบการเงินของ บ. ในต่างประเทศที่ใช้ IFRS ชุดใหญ่ มักจะเปิดเผยข้อมูลกัน) ว่า หาก Cryptocurrencies ดังกล่าวสามารถวัดมูลค่าได้อย่างน่าเชื่อถือ กิจการก็อาจเปิดเผยข้อมูลมูลค่ายุติธรรมของ Cryptocurrencies ในหมายเหตุประกอบงบการเงินได้ด้วย เพื่อให้ข้อมูลกับผู้ใช้งบเพิ่มเติมจาก มูลค่าของ Cryptocurrencies ตามวิธีราคาทุนที่บันทึกอยู่ในงบการเงินครับ
.
ก็เป็นอันว่านอกจากคำถาม – คำตอบ ฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาการตีความ และการทำงานจริงในทางปฏิบัติแล้ว ก็ยังเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าเมื่อมีเรื่องใหม่ๆ บังเกิดขึ้นบนโลกธุรกิจ การตีความหรือการกำหนดมาตรฐานการรายงานทางการเงินของประเทศไทยก็ได้มีการปรับตัว และคำนึงถึงสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ
.
หรือกรณีนี้ก็คงจะบอกได้ว่า อย่างน้อย ก็ไม่พยายามที่จะเอาของใหม่ๆ (Cryptocurrencies) ไปใส่ในขวดโหลเก่าๆ (ตัดจำหน่าย 10 ปี) นั่นเองครับ
.
และสุดท้ายก็คงต้องย้ำว่าคำถาม-คำตอบ ฉบับนี้ มีขอบเขตเฉพาะ “การถือ” “Cryptocurrencies” เท่านั้นนะครับ โดยนิยามของคำว่า Cryptocurrencies นี้ก็เป็นไปตามนิยามที่กำหนดไว้ใน Agenda decision on Holdings of cryptocurrencies – June 2019 กล่าวคือ
.
1. เป็นสกุลเงินดิจิทัลหรือสกุลเงินเสมือนซึ่งถูกบันทึกอยู่บนการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ (A distributed ledger) ที่ใช้วิทยาการเข้ารหัสลับ (Cryptography) เพื่อความปลอดภัย
.
2. ไม่ได้ออกโดยหน่วยงานกำกับดูแลหรือหน่วยงานอื่น และ
.
3. ไม่ได้ก่อให้เกิดสัญญาระหว่างผู้ถือ (Holder) กับอีกฝ่ายหนึ่ง
.
ดังนั้นหากกิจการที่ถือ Digital Assets ที่ไม่ได้เข้านิยาม Cryptocurrencies ตามคำถาม-คำตอบ ฉบับนี้ ก็จะต้องใช้หลักการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการตีความครับ
.
ที่มา : คำถาม – คำตอบเกี่ยวกับการถือครองคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrencies) สำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (NPAEs)

==================================
📣 Accounting Analysis มี Course อบรมเก็บชั่วโมง CPD (ด้านบัญชี) แบบ E-Learning คอร์สใหม่ล่าสุด :
🔥 Cryptocurrencies and Digital Assets Accounting 101 🔥
👉 เงื่อนไขดูรายละเอียดคอร์ส -> คลิกที่นี่
==================================

เมษายน 20, 2022
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ