ใน Q1/2021 จะมีผลกระทบจากการ “ยุติ” การใช้ข้อผ่อนปรนทางบัญชี COVID-19 มากขนาดไหน

[ใน Q1/2021 จะมีผลกระทบจากการ “ยุติ” การใช้ข้อผ่อนปรนทางบัญชี COVID-19 มากขนาดไหน]

สืบเนื่องจากแนวปฏิบัติทางการบัญชี เรื่อง มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ไม่ได้มีการขยายเวลาการบังคับใช้และให้สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 ที่ผ่านมา ประกอบกับกิจการสามารถเลือกที่จะยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 สำหรับการจัดทำงบการเงินในรอบระยะเวลาสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2020 ได้
.
เรามาดูกันว่า
– ใน Q4/2020 ที่ผ่านมา มีบริษัทขนาดใหญ่ (SET 100) ยุติการใช้ข้อผ่อนปรนดังกล่าวมากน้อยขนาดไหน
– มีผลกระทบหรือไม่
– รวมไปถึงบริษัทที่ยังไม่ได้ยุติการใช้ข้อผ่อนปรนใน Q4/2020 … ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่ “คาดว่า” จะเกิดขึ้นจากการ “ยุติ” ใน Q1/2021 ไว้อย่างไรกันบ้าง
.
Accounting Analysis พบว่าใน Q4/2020 บริษัทใน SET 100 ยังคงใช้ข้อผ่อนปรนดังกล่าวอยู่ 44 บริษัท โดยลดลงถึง 16 บริษัท จากการใช้ข้อผ่อนปรนใน Q3/2020 ที่สูงถึงกว่า 60 บริษัท หรือลดลงราวๆ 1 ใน 4 ของบริษัทที่เคยเลือกใช้ข้อผ่อนปรนใน Q3/2020 นั่นเอง
.
แล้วในทางปฏิบัติข้อผ่อนปรนข้อไหนบ้างที่ถูก “ยุติ” การใช้งานใน Q4/2020 ?
.
ตามคำถาม – คำตอบ เรื่อง การรับรู้รายการและการเปิดเผยข้อมูลในกรณีที่กิจการยุติการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางการบัญชี เรื่อง มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 ได้ให้แนวทางในการ “ยุติ” การใช้ข้อผ่อนปรนไว้ว่า
.
“หากกิจการเลือกที่จะยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนข้อใดข้อหนึ่ง กิจการควรทบทวนการยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนในเรื่องอื่นที่มีหลักการพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกัน”
.
ซึ่งกลุ่มข้อผ่อนปรนที่มีหลักการพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกันอาจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
1. กลุ่มการด้อยค่าของสินทรัพย์ ตาม TAS 36 & Deferred Tax Assets ตาม TAS 12
2. กลุ่มการวัดมูลค่ายุติธรรม ตาม TFRS 13
3. กลุ่มการวัดมูลค่าผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นโดยวิธีอย่างง่าย ตาม TFRS 9 (จริงๆ ก็คือ การ “ด้อยค่า” สินทรัพย์ทางการเงินนั่นเอง)
.
Accounting Analysis พบว่าใน Q4/2020 บริษัทใน SET 100 ได้ยุติการใช้ข้อผ่อนปรนในกลุ่ม “การด้อยค่า” มากที่สุด ได้แก่
.
1. ข้อผ่อนปรน “ไม่นำ Factor COVID-19 มาถือเป็นข้อบ่งชี้การด้อยค่าของสินทรัพย์” ลดลงจากอัตราการใช้ข้อผ่อนปรนที่ 37% ใน Q3/2020 ลงมาเหลือ 20% ใน Q4/2020
.
2. ข้อผ่อนปรน “ไม่นำ Factor COVID-19 มาใช้ในการทดสอบการด้อยค่า Goodwill, IA with an indefinite useful life, IA not yet available for use” ลดลงจากอัตราการใช้ข้อผ่อนปรนที่ 27% ใน Q3/2020 ลงมาเหลือ 14% ใน Q4/2020
.
3. ข้อผ่อนปรน “ไม่ใช้ Forward-looking information สำหรับ ECL – Simplified Approach” ลดลงจากอัตราการใช้ข้อผ่อนปรนที่ 39% ใน Q3/2020 ลงมาเหลือ 26% ใน Q4/2020
.
นอกจากนี้แล้วโดยนัยยะของประโยคที่ว่า “หากกิจการเลือกที่จะยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนข้อใดข้อหนึ่ง กิจการควรทบทวนการยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนในเรื่องอื่นที่มีหลักการพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกัน” จึงตีความได้ว่ากิจการสามารถเลือกที่จะ “ยุติ” การใช้มาตรการผ่อนปรนเป็นบางกลุ่มหัวข้อได้ ไม่จำเป็นต้องยกเลิกทุกข้อในคราวเดียว
.
แล้วใน Q4/2020 มีบริษัทที่ “ยุติการใช้ทุกข้อ” กับ “ยุติการใช้เพียงบางข้อ” มากน้อยขนาดไหน
.
Accounting Analysis พบว่าใน Q4/2020 มีถึง 18 บริษัทที่ “ยุติการใช้ข้อผ่อนปรนทุกข้อ” ในขณะที่อีก 12 บริษัท “ยุติการใช้ข้อผ่อนปรนเพียงบางข้อ” พูดง่ายๆว่า มีบริษัทที่ยุติทั้งหมด เยอะกว่าบริษัทที่ยุติเพียงบางส่วน
.
คำถามที่สำคัญต่อมา คือ การ “ยุติ” การใช้ข้อผ่อนปรนดังกล่าวใน Q4/2020 มีผลกระทบอย่างไรบ้าง
.
ตามคำถาม – คำตอบ เรื่อง การรับรู้รายการและการเปิดเผยข้อมูลในกรณีที่กิจการยุติการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางการบัญชี เรื่อง มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 ได้ให้แนวทางในการ “เปิดเผยข้อมูล” ในกรณีที่กิจการยุติการใช้มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 ว่าต้อง “เปิดเผยข้อมูลตามข้อกำหนดในมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้อง”
.
Accounting Analysis พบว่าบริษัทที่ยุติการใช้ข้อผ่อนปรนใน Q4/2020 (ทั้งหมด & บางส่วน) พบว่ามีเพียง 4 บริษัทที่เปิดเผยผลกระทบเป็นตัวเลขชัดเจน โดยมีผลกระทบต่อ
• งบกำไรขาดทุน (P/L) : ค่าใช้จ่าย อยู่ในช่วง 1,416 – 1,225 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการด้อยค่าสินทรัพย์สิทธิการใช้ ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ และสินทรัพย์ไม่มีตัวตน
• ผลกระทบต่อกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (OCI) : ค่าใช้จ่าย อยู่ในช่วง 75 – 52 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการวัดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนในตราสารทุนที่ไม่อยู่ในความต้องการของตลาดซึ่งมีมูลค่าลดลง
.
นอกจากนี้ อีก 14 บริษัทเปิดเผยข้อมูลว่า การยุติการใช้ข้อผ่อนปรนใน Q4/2020 นั้นไม่มีผลกระทบอย่างมีสาระสำคัญ
.
ทั้งนี้ 12 บริษัท ไม่ได้เปิดเผยผลกระทบจากการยุติการใช้ข้อผ่อนปรนใน Q4/2020
.
แล้วอีก 44 บริษัทที่เหลือ ที่ยังไม่ได้ยุติการใช้ข้อผ่อนปรนทั้งหมดใน Q4/2020 ส่วนใหญ่ยังคงใช้ข้อผ่อนปรนข้อใดกันอยู่บ้าง ?
.
Accounting Analysis พบว่าบริษัทที่ยังคงใช้ข้อผ่อนปรนใน Q4/2020 นั้น ใช้ข้อผ่อนปรนในเรื่องต่างๆ เหล่านี้มากที่สุด … 3 อันดับแรก ได้แก่
.
1. 28% – สำหรับผู้เช่า เมื่อได้รับการลดค่าเช่าไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสัญญาเช่า
.
2. 26% – ไม่ใช้ Forward-looking information สำหรับ ECL – Simplified Approach
.
3. 20% – ไม่นำ Factor COVID-19 มาถือเป็นข้อบ่งชี้การด้อยค่าของสินทรัพย์
.
แล้วบริษัทที่ยังคงใช้ข้อผ่อนปรนใน Q4/2020 “คาดว่า” จะมีผลกระทบจากการ “ยุติ” การใช้ข้อผ่อนปรนดังกล่าวใน Q1/2021 อย่างไร
.
ตามคำถาม – คำตอบ เรื่อง การรับรู้รายการและการเปิดเผยข้อมูลในกรณีที่กิจการยุติการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางการบัญชี เรื่อง มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2020 ได้ให้แนวทางในการเปิดเผยข้อมูล และเมื่อคาดว่าจะรับรู้ผลกระทบของการสิ้นสุดการใช้มาตรการผ่อนปรนในงบการเงินงวดถัดมา ในปี 2021 (ในกรณีที่กิจการยังคงใช้มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวจนถึงสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2020) ไว้ดังนี้
.
“สำหรับกิจการที่ยังคงใช้มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวจนถึงสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2020 กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ทางเลือกดังกล่าว ข้อเท็จจริง และสถานการณ์ที่กิจการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางการบัญชีเกี่ยวกับมาตรการผ่อนปรนในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
.
หากกิจการคาดว่าจะรับรู้ผลกระทบของการสิ้นสุดการใช้มาตรการผ่อนปรนในงบการเงินงวดถัดมา ในปี 2021 กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อรายการแต่ละรายการในงบการเงินของกิจการ (ถ้ามี) โดยข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบดังกล่าวอาจอยู่ในรูปแบบของคำอธิบายโดยไม่จำเป็นต้องระบุเป็นจำนวนเงิน หากกิจการไม่สามารถประมาณผลกระทบดังกล่าวได้เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดทำประมาณการ กิจการต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย”
.
Accounting Analysis พบว่าบริษัทที่ยังคงใช้ข้อผ่อนปรนใน Q4/2020 จำนวน 44 บริษัทนั้น มีรูปแบบการเปิดเผยการคาดการณ์ผลกระทบจากการ “ยุติ” การใช้ข้อผ่อนปรน ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2564 ดังนี้
.
แบบที่ 1 จำนวน 2 บริษัท : เปิดเผยว่ามีผลกระทบ “ต่อบางรายการอย่างมีสาระสำคัญ” อันได้แก่ “คาดว่าจะมีผลกระทบทางการเงินต่อมูลค่าของสินทรัพย์สิทธิการใช้และหนี้สินตามสัญญาเช่าในจำนวนที่มีสาระสำคัญ” และ “คาดว่าจะมีการรับรู้ผลกระทบต่อรายการรับรู้การด้อยค่าของอาคาร อุปกรณ์ และสินทรัพย์สิทธิการใช้อย่างมีสาระสำคัญ สำหรับหน่วยสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดเงินสดของกลุ่มธุรกิจโรงแรมในไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2564 ที่กำลังจะถึงนี้”
.
แบบที่ 2 จำนวน 6 บริษัท : เปิดเผยว่า “ไม่มีผลกระทบอย่างมีสาระสำคัญ”
.
แบบที่ 3 จำนวน 19 บริษัท : เปิดเผยว่า “กำลังประเมินผลกระทบ / ยังไม่สามารถคาดการณ์ผลกระทบได้”
.
แบบที่ 4 จำนวน 17 บริษัท : ยังไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
.
สรุปง่ายๆ ได้ว่า อีก 19+17 = 36 บริษัท หรือคิดเป็น 82% ของบริษัทที่ยังคงใช้ข้อผ่อนปรนใน Q4/2020 … ต้องไปลุ้นกันเอาเองตอนงบ Q1/2021 ว่าจะได้รับผลกระทบมากน้อยขนาดไหน
.
ในอีกมุมหนึ่งคือ บริษัทใน SET 100 ที่ยังคงใช้ข้อผ่อนปรนใน Q4/2020 ไม่มีบริษัทใดเลยเปิดเผยตัวเลขผลกระทบ (ชัดๆ) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอันเนื่องจากการ “ยุติ” ในการข้อผ่อนปรนใน Q1/2021
.
เรียกว่าไม่มีใครทำเกิน Minimum ที่ระบุในคำถาม-คำตอบฯ ที่ระบุไว้ว่า “โดยข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบดังกล่าวอาจอยู่ในรูปแบบของคำอธิบายโดยไม่จำเป็นต้องระบุเป็นจำนวนเงิน” … แต่อย่างน้อยก็อุ่นใจ สำหรับ 6 บริษัทที่ฟันธงมาแล้วว่า “ไม่มีผลกระทบอย่างมีสาระสำคัญ” ครับ
.
และต้องไม่ลืมกันไปว่าข้อมูลที่เราพูดคุยกันอยู่นี้ คือ บริษัทใน SET 100 เท่านั้น บริษัทนอก SET 100 ก็อาจได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ได้เช่นเดียวกัน ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วใน Q4/2020 ที่มีบางบริษัท ซึ่งไม่ได้อยู่ใน SET 100 รับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าเกือบแสนล้านบาท เมื่อยุติการใช้ข้อผ่อนปรนใน Q4/2020 (ที่อั้นไว้มา 3 ไตรมาส)
.
อย่างไรก็ดีด้วยสถานการณ์ COVID-19 ณ เวลานี้ก็อดห่วงไม่ได้ว่าความเชื่อที่หลายๆ ท่านได้เคยเชื่อกันว่า “กว่าจะยุติข้อผ่อนปรนใน Q1/2021 สถานการณ์ COVID-19 ก็อาจจะคลี่คลายขึ้น ถึงเวลานั้น ก็คงไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากมาย” … จะยังคงเป็นจริงหรือไม่ในเวลานี้ … คงต้องติดตามงบ Q1/2021 ที่จะทยอยออกกันในช่วงเวลาอีก 1 เดือนข้างหน้า (แบบไม่มีข้อผ่อนปรนทางบัญชี COVID-19) กันต่อไปครับ

เมษายน 9, 2021
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ