REIT with buy back condition กับผลกระทบต่องบการเงิน

[REIT with buy back condition กับผลกระทบต่องบการเงิน]

แอดนำข่าวที่น่าจะช่วยให้ Fanpage รู้จักกับ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่ให้สิทธิเจ้าของทรัพย์ซื้อทรัพย์สินคืนในราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า หรือตามราคาตลาดภายในระยะเวลาที่กำหนด (REIT with buy back condition) ซึ่งเป็น Product ใหม่ในตลาดมาให้รู้จักกันครับ
.

กลไลหลักๆ ไม่ได้ซับซ้อน กล่าวคือ เจ้าของสินทรัพย์ขายสินทรัพย์เข้า REIT และมีภาระผูกพัน (Obligation) หรือ มีสิทธิ (Option) ในซื้ออสังหาริมทรัพย์คืนภายในวันเวลาและราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า
.

วัตถุประสงค์หลักของ Product ประเภทนี้ก็เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะโรงแรม ศูนย์การค้าหรืออาคารสำนักงาน ในด้านสภาพคล่อง พูดง่ายๆ คือ ขายเอาเงินมาหมุนก่อน ในช่วงเวลาระหว่างนั้นก็เช่ากลับมาใช้ในการดำเนินงาน แล้วค่อยซื้อคืนในอนาคต
.

ในมุมของผู้ขายสินทรัพย์เข้า REIT โดยเฉพาะแบบมีภาระผูกพัน (Obligation) ที่จะต้องซื้อคืนสินทรัพย์นั้น ประเด็นสำคัญก็คงหนีไม่พ้นการพิจารณาว่ารายการขายดังกล่าวถือเป็นการขายทางบัญชี หรือที่มักเรียกว่าเป็น True-sale หรือไม่
.

อย่างไรก็ดีเนื่องด้วยลักษณะของการมี Obligation ที่บริษัทจะต้องซื้อคืน จึงอาจทำให้รายการดังกล่าวไม่ถือเป็น True-sale ตาม TFRS 15 และถือเป็น สัญญาจัดหาเงิน (มองเป็นการกู้ยืมเงิน) ดังนั้น
.

1. บริษัทไม่สามารถรับรู้กำไรจากการขายสินทรัพย์ได้
2. บริษัทต้องรับรู้เงินที่ได้รับจากการขายเป็นหนี้สินทางการเงิน
3. บริษัทต้องรับรู้ต้นทุนทางการเงินจากหนี้สินทางการเงินตามข้อ 2
.

ดูเร็วๆ แล้วเหมือนกำไรจากการขายก็ไม่มี มีแต่หนี้และต้นทุนทางการเงินในงบคนขาย
.

แต่ต้องไม่ลืมว่า ในช่วงเวลาแบบนี้ ในมุมของคนขาย เรื่อง “สภาพคล่อง” คงจะเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง
.

คงจะได้เห็นธุรกรรมการขายและเช่ากลับคืนจากหลายๆบริษัท ที่จะเริ่มทำกันในปี 2564 นี้ (อาจจะผ่าน REIT หรือผ่านเครื่องมืออื่นๆ) ซึ่งผลกระทบในเชิงตัวเลขจะเป็นอย่างไร ส่วนหนึ่งขึ้นกับการพิจารณาว่าสัญญาดังกล่าวเป็น True-sale หรือไม่
.

และใน Step ของการเช่ากลับคืน คงต้องทำใจว่ามีหนี้สินตามสัญญาเช่า และต้นทุนทางการเงินตามมาแน่นอน
.

……………………………………………………………………………

ข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
.

(Apr 15) ประเดิมตั้ง “กองทรัสต์” อุ้มโรงแรม “รอยัล ออคิด” นำร่อง 4.5 พันล้าน : นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนหลายธุรกิจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่เปรียบเสมือน “กล่องดวงใจ” ของประเทศไทย ถูกกระทบหนักหน่วง เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติเข้ามา ทำให้ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจนี้ โดยเฉพาะที่เป็นรายย่อยและเอสเอ็มอี มีความเสี่ยงจะต้องขายทรัพย์สิน ซึ่งหลายฝ่ายต่างกังวลกันว่า จะหลุดมือไปอยู่กับต่างชาติ ทำให้ที่ผ่านมามีความพยายามหาแนวทางมาแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวกันอย่างหลากหลาย
.

โดยหนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจ คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เสนอแนวคิดเรื่องการจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่ให้สิทธิเจ้าของทรัพย์ซื้อทรัพย์สินคืนในราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า หรือตามราคาตลาดภายในระยะเวลาที่กำหนด (REIT with buy back condition)
.

เพื่อเป็นทางเลือกให้เจ้าของธุรกิจต่าง ๆ ที่กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง สามารถนำอสังหาฯที่มีอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม, ศูนย์การค้าหรืออาคารสำนักงาน เข้าไปอยู่ในกองรีท เพื่อสร้างสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ
.

ล่าสุด “จอมขวัญ คงสกุล” ผู้ช่วยเลขาธิการสายระดมทุน สำนักงาน ก.ล.ต. เปิดเผยถึงความคืบหน้าว่า ก.ล.ต.ได้ออกหลักเกณฑ์ในการให้ผู้จัดการกองทรัสต์ (REIT Manager) ยื่นคำขอจัดตั้ง REIT with buy back condition กองใหม่ โดยแยกออกจากกองรีททั่วไป ซึ่งรูปแบบข้อตกลงและข้อกำหนด จะแบ่งเป็น 3 รูปแบบคือ
.

1.เจ้าของเดิมมีภาระผูกพัน (obligation) ในการซื้ออสังหาริมทรัพย์คืนภายในวันเวลาและราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า โดยเจ้าของเดิมที่จะซื้ออสังหาฯคืน ต้องได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิตเรตติ้ง) จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ ก.ล.ต.ยอมรับโดยไม่จำกัดต้องเป็นระดับลงทุน (investment grade)
.

“ไม่จำเป็นต้องเป็น investment gradeแต่จะคล้าย ๆ กับหุ้นกู้มีประกัน ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่ำ ดังนั้นจึงไม่จำกัดการเสนอขายต่อนักลงทุน รูปแบบนี้จึงเปิดให้ขายนักลงทุนรายย่อยได้”
.

2.เจ้าของเดิมมีภาระผูกพัน (obligation) ในการซื้ออสังหาฯคืนภายในวันเวลาและราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า โดยเจ้าของเดิมที่จะซื้ออสังหาฯคืน ไม่มีเครดิตเรตติ้ง และ
.

3.เจ้าของเดิมมีสิทธิ (option) ในการพิจารณาซื้ออสังหาฯคืนภายในวันเวลาและราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า เช่น การซื้อขายฝากเป็นต้น
.
ทั้งนี้ รูปแบบที่ 2 และ 3 ก.ล.ต.กำหนดให้เสนอขายได้เฉพาะนักลงทุนสถาบัน/ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (II/UHNW) เท่านั้น เนื่องจากค่อนข้างมีความซับซ้อนหรือเสี่ยงสูง
.

ปัจจุบันมีผู้สนใจยื่นแบบคำขอและแบบแสดงรายการข้อมูลและหนังสือชี้ชวนการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ออกกอง REIT buy-back condition แล้ว 1 ราย คือ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ แกรนด์ รอยัล ออคิด ฮอสพิทาลิตี้ ที่มีข้อตกลงในการซื้อคืน (GROREIT) โดย บมจ.รอยัล ออคิด (ประเทศไทย) เป็นเจ้าของทรัพย์และผู้เช่า กรรมสิทธิ์สมบูรณ์ (freehold) ซึ่งมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ จํากัด เป็นผู้จัดการกองทรัสต์และผู้จัดการการจำหน่าย และ บลจ.กสิกรไทย เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ (ทรัสตี)
.

โดย GROREIT ได้ยื่นไฟลิ่งต่อ ก.ล.ต.ไปเมื่อวันที่ 5 เม.ย. โดยมีแผนจะเสนอขายนักลงทุนทั่วไป (ไม่จำกัด) โดยได้รับการจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง BB- จากทริสเรทติ้งมูลค่าการเสนอขาย 3,150 ล้านบาท ราคาเสนอขาย 10 บาทต่อหน่วย
.

โดยมีหลักทรัพย์หลัก คือ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโครงการโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตันโฮเทล แอนด์ ทาวเวอร์ส รวมถึงส่วนควบเฟอร์นิเจอร์อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการโรงแรม ซึ่งอยู่ในตรอกกัปตันบุช ซอยเจริญกรุง เขตบางรัก กรุงเทพฯ
.

ทั้งนี้ ขนาดกอง GROREIT มีมูลค่าอยู่ที่ราว 4,500 ล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนเงินทุน 3,150 ล้านบาท และเงินกู้ 1,350 ล้านบาท ซึ่งเจ้าของเดิมจะเช่าทรัพย์สินกลับไปดำเนินการโรงแรม ระยะเวลา 5 ปี (3+1+1 ปี) และจะชำระค่าเช่าคงที่ให้กองทรัสต์ ประมาณ 272 ล้านบาทต่อปี โดยประมาณการอัตราผลตอบแทนค่าเช่าถึงผู้ถือหน่วยราว 6% ต่อปี
.

ซึ่งจะมีเงื่อนไขในการซื้อคืน (option) หากซื้อคืนเมื่อสิ้นสุดปีที่ 3 จะอยู่ที่ 4,703 ล้านบาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนภายในของผู้ถือหน่วยทรัสต์ (equity IRR) ราว 8% หรือปีที่ 4 จะอยู่ที่ 4,783 ล้านบาท ผลตอบแทนราว 8.01% ส่วนปีที่ 5 ปีสุดท้ายซึ่งต้องซื้อคืน (obligation) จะมีมูลค่า 4,873 ล้านบาท ผลตอบแทนราว 8.03%
.

ขณะที่ประมาณการผลตอบแทน GROREIT สำหรับ 12 เดือน (1 ก.ค. 2564-30 มิ.ย. 2565) คาดเงินสดสุทธิที่สามารถนำมาจ่ายผู้ถือหน่วยจะอยู่ที่ราว 191.86 ล้านบาท จำนวนเงินจ่ายประโยชน์ตอบแทนต่อหน่วย 0.609 บาท และอัตราผลประโยชน์ตอบแทนต่อหน่วยสูงสุดที่จ่ายได้ในปีแรก 6.09% (คำนวณจากราคาเสนอขาย ณ ราคา 10 บาท) และมีนโยบายจ่ายประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิ (จ่ายไม่เกิน 4 ครั้งต่อรอบบัญชี)
.

“ปัจจุบัน ก.ล.ต.ยังอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด อาจปรับปรุงแก้ไขไฟลิ่งเพิ่มเติม ก่อนที่จะอนุญาตให้เสนอขายได้ ซึ่งถ้าเป็นไปตามเกณฑ์ก็คาดว่าจะใช้เวลาอนุมัติไม่นาน ส่วนจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายย่อยมากน้อยแค่ไหน คงขึ้นอยู่กับราคาขายและอัตราผลตอบแทน (ยีลด์) ที่จะออกมาแน่ชัดแล้วว่าอยู่ที่เท่าใด ถ้าออกมาน่าสนใจ คาดว่าคงได้รับการตอบรับที่ดี”
.

ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวด้วยว่า REIT buy-back จะแตกต่างจาก asset warehousing หรือพักทรัพย์พักหนี้ เนื่องจากตัวทรัพย์ปลอดภาระ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายคือเป็นผู้ประกอบการที่ขาดสภาพคล่องที่มีอสังหาฯ ไม่ใช่ลูกหนี้แบงก์ที่มีอสังหาฯเป็นหลักประกัน
.

“วัตถุประสงค์ของ REIT buy-back เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ นำเงินไปชำระคืนเงินกู้หรือประกอบธุรกิจได้ ขณะเดียวกันระยะเวลาในการซื้อคืนไม่กำหนดตายตัว และราคาซื้อขายก็แล้วแต่ตกลงกัน อาจจะเหมือนกันที่รัฐสนับสนุนภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนให้”
.

ก่อนหน้านี้บริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ROH ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงมติของผู้ถือหุ้นที่อนุมัติให้บริษัทรับโอนกิจการทั้งหมดจากบริษัท ไทย รอยัล ออคิด เรียล เอซเทท จำกัด (TRO) ที่เป็นบริษัทย่อย และจะดำเนินการเลิกบริษัท TRO ต่อไป
.

ขณะเดียวกันก็มีมติอนุมัติให้จำหน่ายสินทรัพย์ของโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเทล แอนด์ ทาวเวอร์ส ให้แก่กองทรัสต์ที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ในราคาไม่เกิน 4,500 ล้านบาท และมีมติให้เช่าทรัพย์สินดังกล่าว เพื่อนำกลับมาบริหารในนามของบริษัทต่อไป
.

โดยมีระยะเวลาการเช่า 3 ปี มีสิทธิต่ออายุสัญญาเช่าได้อีก 2 คราว คราวละ 1 ปี รวม 5 ปี และมีค่าเช่าตลอดอายุการเช่าเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 1,460 ล้านบาท พร้อมทั้งมีมติให้บริษัทซื้อทรัพย์สินดังกล่าวคืนภายใน 5 ปีด้วย
.

นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มท่องเที่ยว ที่จะมาช่วยพยุงกิจการให้ฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้
.

Source: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
https://www.prachachat.net/finance/news-645748

เมษายน 16, 2021
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ