ใน Q2/2020 บริษัทใน SET 100 ใช้ข้อผ่อนปรนทางบัญชี COVID-19 มากขึ้นหรือไม่

[ใน Q2/2020 บริษัทใน SET 100 ใช้ข้อผ่อนปรนทางบัญชี COVID-19 มากขึ้นหรือไม่]

งบการเงิน Q2/2020 สำหรับ SET 100 ได้ประกาศออกมาทั้งหมดเรียบร้อยสดๆร้อนๆเมื่อช่วงห้าโมงเย็นที่ผ่านมา โดยกลุ่มแบงค์เป็นกลุ่มสุดท้ายที่ประกาศออกมา (งบครึ่งปี Audited)

ถ้ายังจำกันได้แอดเคยทำ Poll หลังสิ้น Q1/2020 ถามแฟนเพจว่า คิดว่า Q2/2020 บริษัทจะใช้ข้อผ่อนปรนทางบัญชี COVID-19 กันมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งคำตอบส่วนใหญ่บอกว่า น่าจะมากขึ้น เรามาดูกันครับว่ามากขึ้นจริงหรือไม่ และเพราะสาเหตุใดเป็นหลัก

ผลการสำรวจของบริษัทใน SET100 สำหรับ Q2/2020 พบว่าบริษัทส่วนใหญ่ คิดเป็น 61% ใช้ข้อผ่อนปรนทางบัญชี COVID-19 ตามแนวปฏิบัติทางการบัญชี เรื่อง มาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับทางเลือกเพิ่มเติมทางบัญชีเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

อัตราการใช้ข้อผ่อนปรนเพิ่มขึ้นจาก Q1/2020 ที่ใช้ข้อผ่อนปรนอยู่ที่ 51%

Industry ที่ใช้ข้อผ่อนปรนสูงสุดสามอันดับ ยังคงเป็นกลุ่ม Services, Agro & food Industry และ Property and Construction (แม้ว่าจะมีการสลับอันดับภายในกันบ้าง) ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่กระทบกับ Industry ดังกล่าวมากกว่า Industry อื่นๆ จนทำให้บริษัทเลือกใช้ข้อผ่อนปรนทางบัญชี

อย่างไรก็ดี Industry ที่มีอัตราการใช้ข้อผ่อนปรนสูงขึ้นอยากมากจาก Q1/2020 ได้ก็ Technology โดยเฉพาะกลุ่มสื่อสาร เช่น ADVANC INTUCH JAS เนื่องจากโดยลักษณะธุรกิจแล้วจะมีสัญญาเช่าจำนวนมาก จึงทำให้บริษัทดังกล่าวเลือกใช้ข้อผ่อนปรนในเรื่องสัญญาเช่า ใน Q2/2020 (ข้อผ่อนปรนสำหรับผู้เช่า เมื่อได้รับการลดค่าเช่าไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสัญญาเช่า)

สำหรับ Financials Industry หากเป็น Bank ขนาดใหญ่ ก็ไม่มีใครใช้ข้อผ่อนปรนฉบับนี้ เช่นเดียวกับตอน Q1/2020 แต่จะไปใช้ข้อผ่อนปรน ตามมาตรการผ่อนปรนชั่วคราวสำหรับกิจการที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ประโยคที่มักจะได้ยินกันในการชี้แจงหรือบรรยายเกี่ยวกับเรื่องการใช้ข้อผ่อนปรน มักจะมีการเน้นย้ำว่า หากบริษัทเลือกใช้ข้อผ่อนปรนใดแล้ว ควรมีความสม่ำเสมอในการใช้งาน แต่ Fact ที่เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติกลับพบว่า

📌 ใน Q2/2020 มีบริษัทที่ใช้จำนวนข้อผ่อนปรนมากขึ้นกว่า 22%

📌 ในทางตรงกันข้าม มีบริษัทที่ใช้จำนวนข้อผ่อนปรนลดลงอยู่ที่ 9%

📌 ในขณะที่บริษัทส่วนใหญ่อีกกว่า 69% ใช้จำนวนข้อผ่อนปรนเท่าเดิมเหมือนกับตอน Q1/2020 (รวมกรณีการไม่ใช่ข้อผ่อนปรนเลยทั้ง Q1 และ Q2 นะครับ)

สิ่งที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริงใน Q2/2020 ยกตัวอย่างเช่น บริษัทอาจเพิ่งได้รับการลดค่าเช่าจากผู้ให้เช่าใน Q2/2020 เลยพิจารณาใช้ข้อผ่อนปรนใน Q2/2020 หรือ บางบริษัท เดิมเคยใช้ข้อผ่อนปรนเรื่องการวัดมูลค่าเงินลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนใน Q1/2020 แต่เนื่องจากสิ้น Q2/2020 บริษัทอาจขายเงินลงทุนดังกล่าวไปแล้ว จึงทำให้ไม่มีประเด็นที่จะต้องใช้ข้อผ่อนปรนในการวัดมูลค่า ณ สิ้น Q2/2020 อีกต่อไป บริษัทจึงเปิดเผยข้อมูลในเรื่องการใช้จำนวนข้อผ่อนปรนลดลงจาก Q1/2020

บางบริษัท (ขอไม่ระบุว่าเป็น SET 100 หรือไม่นะครับ) ก็พบว่า ความไม่แน่นอนได้หายไปแล้วเมื่อเทียบกับตอนสิ้น Q1/2020 ทำให้สามารถวัดมูลค่าตามหลักการได้แล้ว จึงไม่ต้องใช้ข้อผ่อนปรนตามที่เลือกใช้เหมือนตอน Q1/2020 ตัวอย่างเช่น บริษัทเลือกใช้ข้อผ่อนปรน “ไม่นำ Factor COVID-19 ไปใช้ในการประมาณกำไรทางภาษี สำหรับ Deferred Tax Assets” เมื่อตอน Q1/2020 แต่เมื่อพบกับผลกระทบของ COVID-19 จริงๆใน Q2/2020 ก็มีความแน่นอนแล้วว่า ประมาณการกำไรในอนาคตมีความแน่นอนว่าจะน้อยจนไม่พอใช้ตั้ง Deferred Tax Assets บริษัทจึง Reverse Deferred Tax Assets ออกใน Q2/2020 เป็นค่าใช้จ่ายในงวด จึงเป็นที่มาที่บริษัทไม่ได้เลือกใช้ข้อผ่อนปรนข้อนี้แล้วใน Q2/2020 นั่นเอง

หากดูข้อมูลการใช้ข้อปรนปรนรายข้อก็พบว่า ข้อผ่อนปรนที่ใช้เยอะสุด 3 อันดับแรก ก็ยังคงเป็นข้อผ่อนปรนในกลุ่มการด้อยค่า เช่นเดียวกับตอน Q1/2020 ซึ่งมีอัตราการใช้ข้อผ่อนปรนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก Q1/2020 ทุกข้อ ได้แก่

🔸 อันดับ 1 เลือกใช้กันกว่า 41% : เลือกที่จะไม่นำสถานการณ์ COVID-19 มาถือเป็นข้อบ่งชี้การด้อยค่า ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 36 เรื่อง การด้อยค่าของสินทรัพย์

🔸 อันดับที่ 2 เลือกใช้ 40% : เลือกที่จะไม่ต้องนำข้อมูลที่มีการคาดการณ์ไปในอนาคต (Forward-looking information) มาใช้ในการวัดมูลค่าของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยสามารถใช้ข้อมูลผลขาดทุนด้านเครดิตในอดีต (Historical credit loss) หรือวิธีอื่นที่ให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกันประกอบกับดุลยพินิจของผู้บริหารในการประมาณการผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากข้อมูลที่มีและหาได้โดยไม่ใช้ความพยายามหรือต้นทุนที่สูงเกินไปมาใช้ในการตั้งสำรอง

🔸 อันดับที่ 3 เลือกใช้ 31% : เลือกที่จะไม่นำข้อมูลจากสถานการณ์ COVID-19 ที่อาจจะกระทบต่อการพยากรณ์ทางการเงินในอนาคตมาใช้ประกอบการทดสอบการด้อยค่าของค่าความนิยม สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่มีอายุการใช้ประโยชน์ไม่ทราบแน่นอน หรือสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ยังไม่พร้อมใช้งาน

ดังนั้นในการวิเคราะห์งบการเงินใน Q2/2020 นี้ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า ส่วนหนึ่งของบริษัทใน SET 100 ยังอั้นการตั้ง Impairment จากความไม่แน่นอนของ COVID-19 อยู่นะครับ ไปลุ้นเอาต่อไปว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหรือไม่ หรืออย่างน้อยก็ขอให้ ไม่พบ “ความแน่นอนในเชิงลบ” ในอีก 2 ไตรมาสที่เหลือของปี

การใช้ข้อผ่อนปรนในกลุ่มด้อยค่าถือว่าเซอร์ไพรส์แอดไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะตอนแรกเดาว่าน่าจะมีอัตราการใช้งานเพิ่มสูงมากกว่าใน Q1/2020 หลังจากที่บริษัทต่างๆ ได้รับผลกระทบของ COVID-19 อย่างชัดเจนใน Q2/2020

จึงแสดงได้ว่าบริษัทส่วนใหญ่ได้ตัดสินใจเลือกใช้ข้อผ่อนปรนในกลุ่มการด้อยค่าได้ค่อนข้างแม่นยำใน Q1/2020 (จึงเห็นภาพว่าการใช้ข้อผ่อนปรนนี้ไม่เปลี่ยนแปลงสักเท่าไหร่ใน Q2/2020) หรือในอีกมุมมองหนึ่งคือบริษัทเล็งเห็นถึงความไม่แน่นอนของ COVID-19 ที่อาจกระทบต่อมูลค่าของสินทรัพย์ตั้งแต่สิ้น Q1/2020 แล้ว

การใช้ข้อผ่อนปรนที่ถือว่าเป็น Highlight ในไตรมาสนี้ก็คงหนีไม่พ้นการใช้ข้อผ่อนปรนสำหรับการบันทึกบัญชีเรื่องสัญญาเช่า ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ให้เช่าก็เพิ่งจะเริ่มพิจารณาและแจ้งลดค่าเช่าอย่างเป็นทางการกันในช่วง Q2/2020 จึงทำให้บริษัทใน SET 100 ใช้ข้อผ่อนปรนข้อนี้สูงขึ้นเป็นอย่างมาก จาก 17% ใน Q1/2020 เป็นกว่า 31% ใน Q2/2020

ส่วนการใช้ข้อผ่อนปรนข้ออื่นๆ ก็ลดลงเล็กน้อย อาจเนื่องด้วยตามเหตุผลที่กล่าวไปครับ

โดยสรุปคือ ข้อผ่อนปรน Top Hit ส่วนใหญ่ที่บริษัทเลือกใช้ใน Q2/2020 ยังคงเป็นข้อผ่อนปรนในกลุ่มการด้อยค่า และข้อผ่อนปรนที่มีการใช้งานเพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้เป็นอย่างมาก ก็คือเรื่องข้อผ่อนปรนสำหรับสัญญาเช่าในฝั่งผู้เช่า ตาม Transaction การได้รับผ่อนปรนค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้นั่นเองครับ

บทความก่อนหน้า เรื่อง [การใช้ข้อผ่อนปรนทางบัญชี ของ SET 100] สำหรับข้อมูลตอน Q1/2020 : คลิก

สิงหาคม 28, 2020
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ