TMB ขาย TMBAM กำไรอื้อ แต่ราคาหุ้นตก : แบบนี้แหละ One-time profit ขั้น Advanced

[TMB ขาย TMBAM กำไรอื้อ แต่ราคาหุ้นตก : แบบนี้แหละ One-time profit ขั้น Advanced]

ช่วงสัปดาห์นี้ (16 – 19 ต.ค. 2561) เป็นช่วงการประกาศงบการเงินของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ข่าวผลประกอบการของธนาคารต่างๆ ก็จะหนาหูเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อวันพุธบ่ายที่ผ่านมาที่ ธนาคารทหารไทย (TMB) ได้ประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 3 ที่โตถึง 176% QoQ แต่ที่น่าตกใจคือราคาหุ้นวันนั้นกลับสวนลงอย่างไม่เกรงใจตัวเลขกำไร

เรามาดูกันดีกว่าครับว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วในฐานะผู้อ่านงบการเงินควรจะต้องรู้และสังเกตอะไรบ้างจาก Case แบบนี้

กำไรที่โตขนาดนี้มีที่มาจาก TMB ขายเงินลงทุนใน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ทหารไทย จำกัด (TMBAM) สัดส่วน 65% ให้กับกลุ่มพรูเด็นเชียล ในช่วงไตรมาส 3/2561 ที่ผ่านมาครับ

โดย TMB ตั้งใจว่าการขายเงินลงทุนให้กลุ่มพรูเด็นเชียล ก็เพื่อจะเข้าร่วมเป็น Partner ทางธุรกิจกับ อีสท์สปริง (ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกลุ่มพรูเด็นเชียล) โดยหวังว่าจะเพิ่มศักยภาพ และช่วยสนับสนุนกลยุทธ์การขายกองทุนแบบเปิดของ TMBAM

อีกเรื่องที่อยากให้ทดไว้ในใจกันก่อนคือ ในอนาคต สัดส่วนอีก 35% ที่เหลือนั้น TMB ก็จะขายให้กับกลุ่มพรูเด็นเชียลอีกเช่นกันครับ

การที่กำไรโตถึง 176% QoQ ทาง TMB ก็ได้ให้ข้อมูลไว้ว่าเป็นผลจาก “มีการรับรู้กำไรจำนวน 1.18 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย กำไรจากการขายหุ้น บลจ.ทหารไทยร้อยละ 65 จำนวน 7.6 พันล้านบาท และกำไรจากการเปลี่ยนแปลงการควบคุมจากบริษัทย่อยเป็นบริษัทร่วม ร้อยละ 35 จำนวน 4.2 พันล้านบาท”

เจ้ากำไร 2 ตัวนั้นคืออะไร เรามาดูกันเลยครับ

โดยปกติทั่วๆไป ถ้าเราขายของ เราก็จะเอาราคาขาย หัก ต้นทุน แล้วก็จะได้กำไรใช่ไหมครับ

แต่ Case นี้ถ้าดูสัดส่วนการถือหุ้นของ TMB ใน TMBAM จากเดิมที่ 100% (ถือเป็นบริษัทย่อย) กลายเป็น 35% (ถือเป็นบริษัทร่วม) ในทางบัญชีเรียกว่าเกิดการ “สูญเสียอำนาจการควบคุม (Loss of Control)”

การคำนวณกำไร/ขาดทุนจาก Transaction ประเภทนี้จะมีกำไรเพิ่มขึ้นมาอีกส่วน คือ กำไรจากการวัดมูลค่าเงินลงทุนที่เหลือให้เป็น Fair Value ใหม่ด้วย

ตัวเลขที่จะอธิบายข้างล่าง เกิดจากการที่แอดลองแกะๆงบดู แล้วประมาณตัวเลขราคาขาย และต้นทุน(มูลค่าตามบัญชีของ Net assets of TMBAM ในงบการเงินรวม) … อย่างมีหลักการนะครับ แต่อาจไม่เป๊ะๆนะ

ตามที่ได้บอกไปครับ Transaction ประเภท Loss of Control จะมีการคิดกำไร/ขาดทุน 2 ส่วนใหญ่ๆ

1. กำไรจากส่วนที่ขายออกไปจริงๆ ซึ่งในที่นี้คือส่วน 65% ครับ กำไรอยู่ที่ 7,600 ล้านบาท

2. กำไรจากการวัดมูลค่าเงินลงทุนที่เหลือให้เป็น Fair Value ใหม่ ส่วนนี้ก็คือส่วน 35% ที่ยังเหลือยู่ครับ

ความน่าสนใจก็คือว่า เจ้ากำไรส่วนที่สองนี้เกิดจากการ Mark to Fair Value (จากมูลค่าตามบัญชีให้กลายเป็นมูลค่ายุติธรรม) และแน่นอนครับ ยังไม่ได้มีใครมาซื้ออะไรจากเราในส่วนนี้ เพียงแต่หลักการบอกไว้ว่าเมื่อเปลี่ยนจากบริษัทย่อย กลายเป็นบริษัทร่วม ตัวเงินลงทุนในบริษัทร่วม ณ Day 1 ต้องวัดมูลค่าด้วย Fair Value นั่นเองครับ

กำไรข้อ 2 แอดมองว่ามีความเป็น “กำไรมโน” เยอะกว่าข้อ 1 มากครับ (แต่ถูกต้องตามหลักการนะ) เพราะมันไม่ได้มีเงินสดอะไรมาเกี่ยวข้องจริงๆ ในงวดที่ Book เลยครับ (ในขณะที่กำไรส่วนที่ 1 คือเงินที่คนซื้อจ่ายให้) ซึ่งใน Case นี้มีกำไรส่วนที่ 2 ถึง 4,200 ล้านบาทเชียวครับ …แอดลองเล่นตัวเลขคร่าวก็พบว่าเกิดการ Mark to Fair Value เป็น 10 เท่าตัวของมูลค่าตามบัญชีเดิมของเงินลงทุน 35% ครับ

ถึงตรงนี้ก็ต้องบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นกำไรข้อ 1 หรือ 2 ก็เป็นกำไรประเภท One-time profit ทั้งสิ้น นั่นคือในการวิเคราะห์อะไรโดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่อง Long Term ก็ควรพิจารณาถอดกำไรตัวนี้ออกครับ เพียงแต่กำไรข้อ 1 เราจะได้รับเงินในงวดที่ Book แต่กำไรข้อ 2 นั้นเรียกได้ว่าเป็นพวก One-time & Non-cash profit เลยหละครับ

ในโลกความจริง บาง Deal พบแต่กำไรข้อ 2 ล้วนๆก็มีนะครับ ดังนั้นต้องดูดีๆว่ากำไรจาก Loss of Control ที่ว่านั้น ประกอบด้วยกำไรประเภทไหน …. แค่ One-time แบบซื้อขายจริง หรือมีทั้งสอบแบบ หรือ มีแต่ One-time แบบ “มโนล้วน” ครับ

หากเรารู้แล้วว่ากำไร 1.18 หมื่นล้านถือว่าเป็น One-time profit เมื่อเราย้อนกลับมาดูงบการเงินของ TMB แอดว่าเราจะเห็นสิ่งที่น่าสนใจ (บวกตกใจ) เยอะเลยครับ

🔺เรื่องแรก กำไรสุทธิแม้ว่าจะโตมากตามที่บอกไป แต่ถ้าไปดูบรรทัด “รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ” และ “รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ” ที่เป็นรายได้หลัก (Core) ของธุรกิจธนาคาร กลับมีแนวโน้มหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด

🔺เรื่องที่สอง ถ้าลองเทียบนะครับ กำไรสุทธิ (ที่รวม One-time profit ไปแล้ว) = 5.6 พันล้านบาท หากลองคิดกลับกันครับ ถ้าไม่มีเจ้า One-time profit (1.18 หมื่นล้าน) เข้ามาช่วย กำไรจะเหลือเท่าไหร่ …. เฉลยคือถ้าเราคิดตรงๆ จะกลายเป็นขาดทุน 6.2 พันล้านบาททีเดียวครับ

🔺เรื่องที่สาม บรรทัดหนี้สูญฯ (หรือที่เรียกกันว่าการตั้งสำรองฯ) เพิ่มขึ้นแบบกระโดดมากๆ จากไตรมาสที่แล้วถึงเกือบ 300% ซึ่ง TMB อธิบายว่า

“ธนาคารได้ตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้เพื่อปรับลดชั้นสินเชื่ออย่างรอบคอบ และเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามมาตรฐานบัญชี IFRS 9 ที่จะใช้ในปี 2563”

หรือ “จาก PPOP ที่ดีขึ้น (กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ…ซึ่งรวมก้อน 1.18 หมื่นล้านแล้ว) ทีเอ็มบีจึงตั้งสำรองฯ เพิ่ม เตรียมรับ IFRS 9 และการบริหารจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างรอบคอบ”

ซึ่งมีข้อสังเกตว่าการตั้งครั้งนี้ เหมือนจะ “ใช้จังหวะ”ที่มีกำไรล้นๆ จากเจ้า One-time profit 1.18 หมื่นล้าน มาตั้งสำรองฯ (พูดง่ายๆคือ หากไม่มี One-time profit จะกล้าตั้งสำรองฯเยอะขนาดนี้ไหม) … อันนี้เป็นข้อสังเกตเลยครับว่า ณ ปัจจุบันธนาคารสามารถตั้งสำรอง ตาม Timing ที่อยากจะตั้งได้ระดับนึง (โดยอ้าง IFRS 9 – มาตรฐานบัญชีที่จะใช้ในปี 63 ซึ่งธนาคารจะต้องตั้งสำรองฯ สูงกว่าตามมาตรฐานฯปัจจุบัน …หลายๆธนาคารเลยเกิดอาการ “ทยอยตั้ง” ตั้งแต่วันนี้)

🔺และเรื่องสุดท้ายครับ มีบาง Broke ออกบทวิเคราะห์ว่า อาจมี One-time profit ขนาดใหญ่อีกระรอก เมื่อ TMB ขาย 35% ที่เหลือหมด

หรือบางคนคิดเร็วๆ ว่ารอบนี้ขาย 65% กำไรหมื่นล้าน รอบหน้าขาย 35% กำไรน่าจะสักห้าหกพันล้าน

แอดมีข้อสังเกตว่า ถ้าขายจะขายในระยะสั้นๆ คงยากที่จะมี One-time profit ขนาดใหญ่แล้วครับ

เหตุก็เพราะว่าเจ้า 35% นั้น ณ วันนี้ ต้นทุนของมันคือ 4,500 ครับ ไม่ใช่ 300 แล้ว (เรียกว่ารับรู้กำไรไปล่วงหน้าแล้ว)

ดังนั้นการที่ระยะเวลาผ่านไปสั้นๆแล้วหวังจะให้ Fair Value ทวีคูณเป็นเท่าๆตัว จาก 4,500 ล้านบาท แบบนี้เรียกกว่าลำบากครับ

สุดท้ายนี้แอดอยากจะบอกว่าเรื่อง One-time profit บางทีเป็นเหตุให้เราเห็นอะไรหลายๆอย่างเลยครับ

ซึ่ง Case TMB นี้ก็เช่นกัน ที่แม้ว่ากำไรจะเพิ่มขึ้นมหาศาล แต่ราคาหุ้นกลับสวนลง อย่างไม่สนใจใยดีครับ

ตุลาคม 19, 2018
© 2022 Accounting-Analysis.com All rights reserved.
0
    0
    ตะกร้าสินค้า
    ตะกร้าสินค้าว่างเปล่าย้อนกลับ